นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา(สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและกำหนดเป็นนโยบายสร้างจิตสำนึกลดปริมาณขยะในสถานศึกษาให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการปฏิบัติ โรงเรียนของ สพฐ.ต้องไร้ขยะ สนก.จึงได้ดำเนินโครงการสร้างจิตสำนึกด้านการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย พลังงานและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านบริหารจัดการขยะและนำกลับมาใช้ประโยชน์ และสร้างวินัยด้านการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนให้นักเรียนทุกระดับชั้นคัดแยกขยะตามหลักโรงเรียนปลอดขยะ
ผอ.สนก.กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินโครงการสร้างจิตสำนึกด้านการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย พลังงาน และความหลากหลายทางชีวภาพ ในปีงบฯ 2561 พบว่า สามารถสร้างผู้นำนักเรียนได้ถึงกว่า 25,000 คน โดยมีโรงเรียน 15,000 โรง ใน 225 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และชุมชนนำนโยบายด้านการจัดการขยะและกิจกรรมส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกการจัดการขยะตามหลัก 3 Rs และนำขยะมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานและซากบรรจุภัณฑ์ สามารถนำขยะอินทรีย์มาผลิตปุ๋ยหมักพระราชทานได้เฉลี่ยโรงเรียนละ 80 กิโลกรัมต่อปี เป็นต้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย ดังนี้ 1)ร้อยละ 70 ของนักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน ชุมชน มีการรณรงค์และมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และมีการปรับพฤติกรรมด้านการบริหารจัดการขยะ น้ำเสียและมลพิษทางอากาศ 2)ร้อยละ 80 ของโรงเรียน นักเรียน มีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยทุกโรงเรียนที่มีการคัดแยกขยะ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีการจัดการน้ำ น้ำเสีย 100% 3)ร้อยละ 70 ของโรงเรียน นักเรียน บุคลากรทางการศึกษาและชุมชนมีการลดปริมาณขยะให้เหลือ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน 4)ร้อยละ 60 ของโรงเรียนสามารถนำขยะและน้ำเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์ 5)ร้อยละ 75 ของโรงเรียน มีการจัดกิจกรรมและจัดการเรียนรู้ด้านการจัดการขยะในสาระการเรียนรู้แกนกลางที่เกี่ยวข้อง และ 6)ร้อยละ 70 ของโรงเรียนต้นแบบและนักเรียนผู้นำเยาวชนด้านการจัดการขยะสามารถขยายเครือข่าย และเป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือโรงเรียนที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับโรงเรียนช่วยเหลือตัวเองได้ โดยให้รู้จักป้องกันมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อนที่จะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่ง สพฐ.จะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้แก่โรงเรียนต่อไป นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างจิตสำนึก ในปีงบฯ 2562 สพฐ. ได้ทำโครงการสร้างจิตสำนึกและความรู้ในการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการขยายผลให้เกิดความยั่งยืนจนเป็นนิสัยของคนไทยในอนาคต โดยจะมีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนในโครงการให้ได้ 30,700 โรงในทุกเขตพื้นที่การศึกษา นำนวัตกรรมต้นแบบการนำ 3 Rs มาประยุกต์ใช้ในการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน 6,000 โรง รวมถึงให้สำนักงานเขตพื้นที่ทั้ง 225 เขต ทำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นสำนักงานสีเขียวต้นแบบ และที่สำคัญจะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจกับเครือข่ายเตรียมความพร้อมโรงเรียนและชุมชนใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่จะได้รับการพัฒนาเป็นเมืองสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย”นายอโณทัย กล่าว