“หมออุดม”ชี้ปลดอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่อแปลก ด้านประธานทปอ.เชื่อยังไม่วิกฤตปลดอาจารย์ ขณะที่”สุภัทร” เผย 10ปี มีมหาวิทยาลัยเสนอปิดตัวเพียง4-5 แห่ง แต่เปลี่ยนมือผู้ขอใบอนุญาตตลอด
วันนี้(28ส.ค.)ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความทางโซเชียลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งมีการขายกิจการให้แห่กลุ่มทุนชาวจีนและได้ปลดอาจารย์จำนวนมาก ว่า เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ เพราะตอนนี้ในมหาวิทยาลัยเอกชนมีเด็กจีนเข้ามาเรียนจำนวนมาก และกลุ่มทุนจีนจะมีลักษณะเข้ามาดำเนินการอย่างครบวงจร จึงอยากเตือนมหาวิทยาลัยให้ปรับตัว และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนทั่วประเทศมีจำนวน 73 แห่ง ในจำนวนนี้มีกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับชั้นนำ และกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับล่างที่คุณภาพต่ำ ขณะที่จำนวนผู้เรียนลดลงกว่าร้อยละ 50 เมื่อมหาวิทยาลัยคุณภาพต่ำเด็กก็ไม่สนใจที่จะเข้าเรียน ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัว และทบทวนการดำเนินการ ปรับปรุงให้มีความเหมาะสม เช่น มหาวิทยาลัยเปิดสอน 10 คณะ ก็จะทำให้แต่ละคณะต่างดึงกัน ไม่มีความชัดเจน จนทำให้เกิดปัญหา มหาวิทยาลัยควรที่จะคัดเลือกเฉพาะคณะที่มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ สามารถสร้างความเชื่อถือให้กับมหาวิทยาลัยได้ และนำมาเป็นจุดเน้น ดึงดูดให้เด็กเข้ามาเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็ไม่ได้ต้องการให้มหาวิทยาลัยปิดตัว แต่มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน
“ขณะนี้จำนวนนักศึกษาลดลงอย่างมากและเป็นไปทั่วโลก หากมหาวิทยาลัยไม่มีการปรับตัว สุดท้ายก็คงต้องปิดตัว อย่างที่ประเทศอเมริกาที่มีมหาวิทยาลัยปิดไปแล้วกว่า 500 แห่ง ส่วนปัญหาการปลดออกอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยปรับโครงสร้างก็ต้องปรับจำนวนอาจารย์ด้วย การปรับหลักสูตรในอนาคตจะมุ่งเน้นบูรณาการหลักสูตร หากอาจารย์ไม่ปรับตัว สอนเฉพาะวิชาของตนเอง ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ต้องมีการปลดอาจารย์มหาวิทยาลัย”ศ.นพ.อุดม กล่าว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ทุกมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเด็กที่ลดน้อยลง ส่วนตัวมองว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังไม่มีการปลดออกอาจารย์ เพียงแต่ส่วนใหญ่จะไม่ขออัตราอาจารย์เพิ่ม ส่วนการชื้อขายให้แก่ทุนจีนนั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างรุนแรงและทุกแห่งต้องแข่งขันกันเรื่องคุณภาพ
ด้านดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอกชนมีการเสนอขอเปลี่ยนผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทุกปี และทราบว่าปีนี้ก็มีมหาวิทยาลัยที่เตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพื่อเปลี่ยนผู้ขอรับใบอนุญาตฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนจากรุ่นพ่อแม่มาสู่รุ่นลูก หรือบางมหาวิทยาลัยที่รุ่นลูก หรือรุ่นหลานก็ไม่อยากสานต่อกิจกรรมของครอบครัว จึงจะมีการขายกิจการให้แก่ผู้อื่น ทั้งนี้ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ระบุไว้ว่า การบริหารงานมหาวิทยาลัยจะเป็นหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ดังนั้น เชื่อว่าการเปลี่ยนผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้ง เป็นเรื่องปกติของมหาวิทยาลัยเอกชน และที่ผ่านมาในระยะเวลา 10 ปี มีมหาวิทยาลัยที่ยื่นเรื่องขอปิดตัว ประมาณ 4-5 แห่งเท่านั้น โดยสาเหตุหลักคือจำนวนนักศึกษาน้อยไม่ถึง 1,200 คน จึงทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการต่อไปได้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2561