แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการจราจรและการใช้รถใช้ถนนของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงาน โดยให้ทุกภาคส่วนหาแนวทางในการป้องกันและจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอุบัติเหตุบนท้องสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
ด้วยการที่เป็นผู้ใช้รถใช้ถนน ผ่านพบเห็นอุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนนมาหลายครั้ง โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ที่เฉี่ยวชนกับเสาหลักกั้นทางซึ่งทำขึ้นจากปูนที่มักจะทำให้เกิดความเสียหายและสร้างความบาดเจ็บที่รุนแรงต่อตัวของผู้ประสบเหตุ จึงทำให้นักศึกษาจาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีมีแนวคิดที่จะหาทางป้องกันและลดระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุทีม“สี่สหาย-สายช่าง” ที่เกิดขึ้นจากรวมตัวกันของนักศึกษา ปวช.ปี 3 จากแผนกต่างๆ จึงได้คิดค้นวัสดุที่จะนำมาทดแทน“เสาหลักนำทาง-เสาหลักกิโลเมตร”ที่สร้างขึ้นจากปูนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
“ที่ผ่านมาได้เห็นอุบัติเหตุจากการที่รถชนกับเสาหลักที่เป็นปูนหรือแผงเหล็กกั้นทาง ผู้บาดเจ็บก็มักจะมีอาการรุนแรงสาหัส ประกอบกับเคยเห็นว่าตามทางโค้งต่างๆ ในสนามแข่งรถนิยมใช้ยางรถยนต์เก่ามากั้นเพื่อบรรเทาความรุนแรง ก็เลยเอาแนวคิดนี้มาปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วก็เกิดความคิดว่าเรามาลองทำเสาหลักนำทางจากยางพารากันดูไหม”นายธรรมนูญ รุจิญาติ “หรั่ง”นักศึกษาแผนกช่างเชื่อมโลหะ ปวช.ปี 3 วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีเล่าถึงที่มาของไอเดีย
จากความคิดว่า “น่าจะทำได้”ทำให้สมาชิกของทีมทั้ง3คนช่วยกันคิดค้นหาวิธีที่ทำให้ยางพารามีความแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความทนทาน และมีความยืดหยุ่นไม่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและร่างกายของผู้ประสบเหตุไปพร้อมกัน
“ตอนแรกก็งง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะยางพาราจะมีคุณสมบัติที่นิ่ม ก็เลยไปหาสารเคมีต่างๆ หรือส่วนประกอบอื่นๆ เข้ามาทดลองผสมดูเพื่อให้มีความแข็งแรง สุดท้ายก็เลยได้ข้อสรุปว่าใช้ขี้เลื่อยผสมกับยางพาราในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 จะทำให้เสาที่ทำขึ้นนั้นมีความแข็งแรงคล้ายกับไม้ และมีความยืดหยุ่นในขนาดที่พอรับได้ ไม่สร้างให้เกิดความเสียหายกับตัวรถและผู้ขับขี่ และช่วยลดแรงปะทะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นลงไปได้มาก”นายณรงค์ศักดิ์ ทิพย์มาก “โดม”นักศึกษา ปวช.ปี 3 จากแผนกเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์กล่าว
ผลงาน “เสาหลักนำทางจากยางพารา”ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมรอบแล้วรอบเล่า จาก 134 ทีม จนผ่านเข้าสู่รอบ 19 ทีมสุดท้ายและได้มีการจัดกิจกรรมWorkshopเพื่อเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ในการนำนวัตกรรมมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชน และเพื่อพัฒนาชิ้นงานให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
“หลังจากนั้นมานั่งคิดกันต่อว่าน่าจะเอาแนวคิดที่ได้รับจากการอบรมมาต่อยอด โดยเริ่มจากการติดตั้งระบบไฟโซล่าเซลเพื่อเพิ่มความปลอดภัย แต่การติดไฟก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันอุบัติเหตุ ก็เลยมาคิดต่อว่า ถ้าเราทำให้เสาหลักนำทางมีระบบ GPSเวลาที่เกิดเหตุก็สามารถแจ้งเตือนไปยังมูลนิธิหรือกู้ภัยต่างๆ ด้วยก็น่าจะดียิ่งขึ้น ก็เลยมีการพัฒนาระบบ Applicationเชื่อมเข้ากับระบบ Lineเวลาที่เกิดอุบัติเหตุก็จะมีข้อความระบุพิกัดสถานที่เกิดเหตุส่งผ่านระบบ Line เข้าไปที่หน่วยกู้ภัย ก็จะทำให้สามารถมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ตรงจุดและทันท่วงที”นายอิศร มยาเศรษฐ“บาส”เล่าถึงแนวทางการต่อยอดผลงาน
จากไอเดียที่ไม่หยุดนิ่งในที่สุดผลงาน “เสาหลักนำทางจากยางพารา”ก็สามารถคว้า รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวะศึกษา จากการประกวดนวัตกรรมนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth INNO Awardsที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนที่รุ่นใหม่ระดับมัธยมและอาชีวศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีในทุกๆ ด้าน
“หากเกิดรถชนที่ไม่รุนแรงมาก แล้วตัวเสาก็จะกลับคืนตัวขึ้นตั้งขึ้นเองได้เหมือนเดิม จากการทดลองการชนที่ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พบว่าตัวรถก็อาจจะมีรอยถลอกนิดหน่อย แต่ไม่เสียหายถึงโครงสร้าง ส่วนคนยังไม่ได้ทดลองแต่อย่างไรก็ต้องเจ็บน้อยกว่าปูนอยู่แล้วเพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า”
“เราใส่สารเคมีที่ป้องกันการติดไฟด้วย เพราะตามป่าหญ้าสองข้างทางอามีคนทิ้งก้นบุหรี่ หรือมีไฟไหม้ป่าไหม้หญ้าข้างทาง ตัวเสาตัวนี้ก็จะไม่เสียหาย เพราะไม่ติดไฟ ถ้ามีคนสนับสนุน ก็อยากจะให้เอาไปใช้กันทั่วประเทศน่าจะปลอดภัย และสร้างรายได้ให้กับชาวสวนยางได้ด้วย”
“เสาของเราถ้าเกิดรถชนจนพัง สามารถนำมาบดใหม่ ใช้ซ้ำได้ และมีราคาต้นทุนประมาณ 300 บาทเท่านั้นถ้ามีการเอาไปใช้งานจริงๆ ทั่วประเทศก็จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชาวสวนยางพาราที่ประสบปัญหาราคาตำต่ำอยู่ในขณะนี้ได้อีกด้วย” 3 หนุ่มจากทีมสี่สหาย-สายช่างช่วยกันอธิบาย
ด้าน อาจารย์ศรีวิการ์ เมฆธวัชชัยกุล อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมตัดสิน เปิดเผยว่าผลงานเสาหลักนำทางจากยางพารานั้น สามารถตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศได้ 3 ด้านคือสามารถสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ป้องกันบรรเทาความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และเป็นนวัตกรรมใหม่ที่รวมเอาเทคโนโลยีต่างๆ เช่นมีระบบ GPSเซ็นเซอร์เตือนภัย ที่เชื่อมโยงเข้ากับระบบ Lineเพื่อแจ้งตำแหน่งที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วในขณะที่มีราคาที่ถูกและสามารถใช้งานได้นานถึง8ปี
“สิ่งที่สำคัญคือผลงานชิ้นนี้ยังตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและปัญหาในเชิงพื้นที่ซึ่งก็คือเรื่องของยางพาราที่มีราคาตกต่ำ ที่หากขยายผลนำไปใช้ทั่วประเทศนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้แล้วยังสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนได้อีกเป็นจำนวนมาก”
“สสส. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การประกวดเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แต่มุ่งหวังที่จะสร้าง เมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์และครู ทั้งในระดับมัธยมและอาชีวศึกษาซึ่ง สสส. ได้วางแผนการทำงานร่วมกับครู อาจารย์ ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อบ่มเพาะแนวคิดของการเป็นนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อในศักยภาพของคน และความคิดสร้างสรรค์ที่ริเริ่มสิ่งใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างเสริมสุขภาพให้กับทุกคนในสังคมไทย” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสสส.กล่าวสรุป.