ชวนลูกศิษย์ทั่วประเทศและสถานศึกษาเสนอชื่อ ‘ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’ ครั้งที่ 3 ครูผู้ใช้ทั้งชีวิตเปลี่ยนแปลงลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา คุรุสภาเดินหน้าปลุกจิตวิญญาณของความเป็นครูหวังพลิกคุณภาพการศึกษาไทย ขณะที่กสศ.เปิดผลวิจัย OECD พบเด็กยากจนที่สุดของประเทศทำคะแนนสอบติดอันดับสูงสุดของโลกได้ 3% ครู เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกศิษย์สู้ไม่ถอย เตรียมจัดทำบัญชีครูผู้ดูแลเด็กขาดโอกาสเชื่อมโยงระบบสารสนเทศเชื่อเติมการทำงานของครูอย่างเป็นระบบ
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่อาคารคุรุสภา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แถลงข่าวการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 โดยดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษาผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู ประเทศละ 1 คน เป็นเวลา 2 ปีครั้ง
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ในการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 มีกำหนดพระราชทานรางวัลในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ระหว่างนี้ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต อยู่ระหว่างการคัดเลือกครูผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษา สำหรับประเทศไทยได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของครูคือ การเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา เพื่อให้สังคมไทยร่วมกันเห็นคุณค่าในจิตวิญญาณของครูผู้เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของลูกศิษย์ทุกคนตลอดชีวิตของความเป็นครู มีองค์ความรู้ที่สามารถเผยแพร่ในระดับประเทศหรือนานาชาติ โดยเป็นหรือเคยเป็นครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาทุกสังกัด ซึ่งรวมถึงครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย โดยมีประสบการณ์สอนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี และปฏิบัติงานสอนหรืองานด้านการศึกษาอยู่จนถึงวันรับพระราชทานรางวัล
ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า การเสนอชื่อครูจะมาจาก 4 ช่องทางคือ
1. เสนอชื่อโดยสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. เสนอชื่อโดยองค์กรที่เป็นนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้
3. เสนอชื่อโดยศิษย์เก่า อายุ 25 ปีขึ้นไป
ซึ่งทั้ง 3 ช่องทางจะเสนอชื่อไปยังศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกในแต่ละจังหวัด ทั้ง 77 แห่ง และช่องทางที่ 4. องค์กรภาครัฐและเอกชน จำนวน 7 องค์กร เสนอชื่อมายังคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง จากนั้นจะมีการคัดเลือกและลงพื้นที่ของคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง และคณะกรรมการมูลนิธิฯ เพื่อพิจารณาครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพียง 1 คนของประเทศไทยเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล และเนื่องจากการคัดเลือกมาจากสุดยอดครูของแต่ละจังหวัด มูลนิธิฯ จึงมอบรางวัลให้กับครูขวัญศิษย์ จำนวน 146 คน รางวัลครูยิ่งคุณ 17 คน และรางวัลคุณากร 2 คน จึงขอเชิญชวนลูกศิษย์ทั่วประเทศ สถานศึกษา และหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อให้สังคมร่วมกันขอบคุณและเห็นคุณค่าครูผู้ทุ่มเทเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ตลอดทั้งชีวิตของความเป็นครู โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.PMCA.or.th
นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า คุรุสภาสนับสนุนให้ครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้รับการยกย่องเป็นที่ยอมรับแก่คนในวิชาชีพ ต่อยอดการพัฒนาตนเองและพัฒนาเพื่อนร่วมวิชาชีพ รวมทั้งเป็นครูต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจ และจิตวิญญาณของความเป็นครูให้แก่เพื่อนครู ครูรุ่นใหม่ และนิสิต นักศึกษา ที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู โดยร่วมเป็นคณะทำงานในการพัฒนาวิชาชีพหรือคัดสรรผู้สมควรได้รับรางวัลต่างๆของคุรุสภา เป็นครูพี่เลี้ยง ครูแกนนำในการเป็นตัวแบบการส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพให้แก่นิสิต นักศึกษาครูที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษา รวมทั้งเป็นครูแกนนำของการสร้างเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC เป็นต้น
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีเป้าหมายการทำงานคือ เด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองตามศักยภาพ และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ จากงานวิจัยของ OECD ที่วิเคราะห์ข้อมูลการสอบ PISA พบว่า ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนที่สุดของประเทศ แต่สามารถทำคะแนนสอบอยู่ในระดับสูงสุดของโลกได้มีอยู่ 3% และหากขจัดอุปสรรคจากความยากจนได้ก็จะมีจำนวนเด็กช้างเผือกเพิ่มขึ้นมาเป็น 18% ที่น่าสนใจคือ OECD มีการติดตามถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กยากจนในประเทศต่างๆประสบความสำเร็จและเอาชนะข้อจำกัดเรื่องฐานะได้ ปัจจัยสำคัญนั้นคือ ครู ที่ทำให้เด็กสู้ไม่ถอย การทำงานของกสศ.นอกจากจะร่วมในกระบวนการคัดเลือกครูแล้ว กสศ.จะพัฒนาระบบสารสนเทศครูนอกระบบการศึกษา รวมทั้งจะจัดทำฐานข้อมูลครูที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ ทั้งในสาขาวิชาที่สอน รวมถึงความโดดเด่นในรูปแบบการจัดการดูแลเด็กเยาวชนด้อยโอกาสเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานรวมถึงเติมเต็มช่วยเหลือในสิ่งที่ยังขาดอย่างเป็นระบบและสามารถขยายผลต่อในวงกว้าง