เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่ห้องประชุม สพม.30 ดร.อุดมชัย ชัยจุฑาภัค ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 30 (ชัยภูมิ) พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานเขต และบุคลากร ให้การต้อนรับ น.ส.สิริมา หมอนไหม ผู้เชี่ยวชาญ สพฐ. นางสุนีย์ สิทธิธนะ และ น.ส.ธีรวรรณ บุญบำรุง ซึ่งเป็นคณะกรรมการติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Leaning” และ การติดตามการบริหารจัดการโรงเรียน “ประชารัฐ (ดีใกล้บ้าน)” เพื่อนำข้อค้นพบ ข้อเสนอแนะ รวมทั้งผลที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการประชารัฐ(ดีใกล้บ้าน) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 30 ได้มอบให้ นายเสรี ปลอดโคกสูง รอง ผอ.สพม.30 พร้อมด้วย นายปรีดา นิตยารส ศึกษานิเทศก์ และบุคลากร ลงพื้นที่เพื่อติดตามการขับเคลื่อนโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายสังกัด สพม.30 ที่ได้ดำเนินการตามนโยบาย ได้แก่ โรงเรียนเมืองพญาแลวิทยา และโรงเรียนกุดตุ้มวิทยา
การลงพื้นที่ติดตามฯ ในครั้งนี้ คณะกรรมการ พบว่า โรงเรียนเมืองพญาแล ในการดำเนินการเพื่อสนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ดำเนินการแบบบูรณาการ ครบทุกกิจกรรมตาม 4H อันได้แก่ กิจกรรมพัฒนาสมอง (Head) กิจกรรมพัฒนาจิตใจ (Heart) กิจกรรมพัฒนาทักษะการปฏิบัติ (Hand) และกิจกรรมพัฒนาสุขภาพ (Health) ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะและเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่เชื่อมโยงจากกิจกรรมลดเวลาเรียน
ส่วนโรงเรียนกุดตุ้มวิทยา คณะผู้บริหารและครู ได้ดำเนินการแบบบูรณาการด้วยเช่นกัน ดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐและกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ร่วมกันเป็นการตอบสนองนโยบายภายใต้บริบทที่จำกัดของโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างน่าชื่นชม มีการนำผลการดำเนินการ AAR หรือ แนวทางการทำ After Action Review คือ การทีมงานร่วมกันตอบคำถามภายหลังการทำงานใน 5 ข้อ เช่น มีการคาดหวังได้อะไรจากการทำงาน ทำได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ เพราะอะไร แล้วมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง มีปัญหาอะไร เพราะอะไร แล้วจะช่วยกันปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร ในส่วนที่เกินความคาดหวังก็จะหาสาเหตุ เพราะอะไร จะทำอะไรต่อไปให้บรรลุสิ่งที่คาดหวัง หรือจะปรับปรุงการทำงานครั้งต่อไปอย่างไร
หลังจากนั้นคณะกรรมการฯ ก็ได้สอบถามพูดคุยอย่างเป็นกันเอง พร้อมให้กำลังใจกับทุกคนที่ช่วยดำเนินการตามนโยบายของ สพฐ. เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาต่อไป