สกอ.เล็งตัดหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่กำหนดการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ตรงเป้าโครงการ ขณะที่ประธาน ทปอ. เผยรับตรงรอบ5 เรียบร้อยดี ฝากเด็กคนไหนไม่มีที่เรียนติดต่อม.เอกชนได้ที่นั่งเพียบ
วันนี้ ( 6 ส.ค.) ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ที่มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 20 แห่ง จำนวน 123 หลักสูตร โดยกลุ่มNon-Degree หมายถึงเป็นการอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพใช้ระยะเวลา 6 เดือน-1 ปี จบแล้ว ได้ประกาศนียบัตร โดยการนำคนที่ทำงานอยู่แล้วที่ต้องการเพิ่มศักยภาพพัฒนาทักษะการทำงานเข้ามาอบรมนั้น มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยก็เริ่มเปิดอบรมไปแล้วด้วย ส่วนกลุ่ม Degree หมายถึงกลุ่มที่ได้รับปริญญานั้น ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ สกอ.จะต้องมาดูก่อนว่าในแต่ละหลักสูตรนั้นมีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการหรือไม่ และจะต้องไปปรับปรุงส่วนไหนบ้าง เพื่อให้ตรงตามเป้าหมาย เช่น การจัดการเรียนการสอนนั้นจะเน้นให้เรียนในมหาวิทยาลัย 50% และทำงานในสถานที่ปฏิบัติงานจริงอีก 50% ที่สำคัญ คือ เนื้อหาวิชาการและรูปแบบการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ จะต้องทำให้นักศึกษาได้ความรู้และพร้อมที่จะทำงานได้ทันทีในอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตามเท่าที่ดูเบื้องต้นก็น่าจะมีบางหลักสูตรต้องตัดออกจากดครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ แต่คิดว่าจำนวนหลักสูตรที่ตัดออกไม่มากนัก
ด้านศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือทีแคส รอบ 5 การรับตรงอิสระ ที่เปิดให้มหาวิทยาลัยไปดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกเองนั้น เท่าที่ทราบทุกอย่างก็เรียบร้อยดี และคิดว่าเด็กส่วนใหญ่ก็น่าจะมีที่เรียนกันไปหมดแล้ว ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็เริ่มทยอยเปิดภาคเรียนอย่างไรก็ตามหากเด็กคนไหนยังไม่มีที่เรียนก็อาจจะไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนได้ เพราะเท่าที่ทราบมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งก็ยังมีที่นั่งเหลือให้แก่เด็กอยู่
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561 เวลา 17.17 น.