รมช.ศึกษาธิการ เชื่อ ตั้งกระทรวงอุดมศึกษาเกิดทันเลือกตั้ง เหลือเคลียร์ปัญหาบางหน่วยงานให้ลงตัว
วันนี้ (6 ส.ค.) ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาว่า ขณะนี้กระทรวงใหม่ยังคงชื่อกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ส่วนขั้นตอนการจัดตั้งอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาดูแล โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย เป็นประธาน ซึ่งต้องเร่งพิจารณาให้เสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อส่งกลับไปให้ ครม.พิจารณา และส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ภายในเดือนกันยายน เนื่องจากสนช.มีเวลาทำงานถึงวันที่ 30 พ.ย.นี้เท่านั้น อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้ชัดเจนว่ากระทรวงใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ส่วนข้อกังวลว่าจะมีเวลาเพียงพอหรือไม่ ตนเห็นว่าหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็จะมีเวลา 3 เดือนในการจัดโครงสร้างและจัดสรรคน ก็คิดว่ากระทรวงใหม่จะเกิดได้ก่อนเลือกตั้งแน่นอน
“อย่างไรก็ตามเวลานี้ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะบางหน่วยงานยังไม่ลงตัว โดยในส่วนของมหาวิทยาลัย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)ไม่มีปัญหา แต่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานอสิระที่ให้ทุนวิจัยยังอยากอยู่เป็นอิสระเหมือนเดิม ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงเชิญหน่วยงานเหล่านี้เข้าไปหารือก่อน แล้วค่อยตัดสินว่าอะไรเหมาะสม เพื่อให้กระทรวงใหม่เสร็จทันกำหนด ทั้งนี้การทำงานของกระทรวงใหม่ ต้องมีกฎหมายหลัก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และ พ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ผมส่ง ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาไปให้ ครม. พิจารณาด้วย เพราะที่ผ่านมาส่งแต่ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น ดังนั้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ผมจะเสนอ ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ให้ ครม.พิจารณ ส่วน ร่าง พ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรม พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากมีความเห็นต่างกันอยู่”รมช.ศธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าต่อไปการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจะให้กระทรวงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งทปอ.ทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่การทำงานมีข้อจำกัดมาก เพราะ ทปอ.ไม่ใช่หน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับ เป็นเพียงการรวมตัวของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนตัวคิดว่า ต่อไปนี้การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาควรจะเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงอุดมศึกษาฯ เป็นหน่วยงานถาวร เพื่อดูแลและพัฒนาอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าหากมีหน่วยงานที่ดูแลส่วนนี้โดยตรงจะสามารถทำลายข้อจำกัดต่างๆ ที่ทปอ. เผชิญอยู่ได้.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561