บอร์ดอิสระฯย้ำร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย จำเป็น หลังถูก กก.ยุทธศาสตร์ตีกลับ
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้มีข้อซักถามเกี่ยวกับความจำเป็นในการออกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ....และการให้มีหน่วยงานพิเศษเกิดขึ้นเพื่อรองรับการขับเคลื่อนตามที่ กอปศ. เสนอไป ซึ่งทาง กอปศ.ยืนยันความชัดเจนว่าได้พิจารณาความจำเป็นในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้ว และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ก็กำหนดเป้าหมายเรื่องการศึกษาปฐมวัยที่จะต้องดูแล เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบชัดเจน ส่งผลให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ กปอศ.เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามารับผิดชอบ เพราะมีผลวิจัยยืนยันจากทั่วโลกว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยจะได้ผลตอบรับดีกว่าถึง 7 เท่าเมื่อเทียบการลงทุนกับเด็กระยะอื่นๆ
ประธาน กอปศ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้หารือการปฏิรูปอาชีวศึกษาเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ซึ่ง การปฏิรูปในครั้งนี้จะนำไปสู่ความยืดหยุ่นของระบบการเรียนรู้ที่ไม่ใช่รูปแบบตายตัวเหมือนที่ผ่านมา อาทิ เรียนจบชั้น ม.3 แล้วไม่จำเป็นต้องแยกเรียนสายวิทย์-สายศิลป์อีกต่อไป การเรียนสายสามัญและสายอาชีพสามารถเรียนควบคู่กันไปได้ ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....จะระบุเรื่องการปฏิรูปอาชีวศึกษา แต่ยังไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษาใหม่ แต่จะให้ปรับแก้ พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา โดยระบุอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอในการปฏิรูปอาชีวศึกษา ของคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ การจัดทวิศึกษาให้นักเรียน ม.ปลายเรียนจบแล้วได้วุฒิการศึกษาทั้งสามัญและอาชีพ การปรับกลไกการ บริหารจัดการอาชีวศึกษา การสร้างฐานข้อมูลของผู้เรียนอาชีวะให้เชื่อมโยงกับการมีงานทำ การปรับทวิภาคีใหม่ให้ตอบโจทย์อนาคต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากการดูงานสภาการศึกษาธุรกิจและเทคโนโลยีแห่งอังกฤษ หรือ บีเทค ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการให้ทุนผู้เรียนสายอาชีพอย่างเต็มที่ รวมถึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปกำหนดในแผนพัฒนาประเทศด้านการศึกษา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 1 สิงหาคม 2561