"หมอธี" เล็งฟื้นการผลิตครูประถมศึกษาสอนได้ทุกวิชา แทนการผลิตครูตามสาขาวิชา หวังแก้ปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังครู
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีธนาคารโลก (Word Bank) ได้สำรวจข้อมูลเรื่องการจัดการทรัพยากรด้านการศึกษาของประเทศไทยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ปี 2553 มีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 31,193 โรง มีครู 404,816 คน และมีนักเรียน 7,711,850 คน และเมื่อปี 2559 พบว่า มีโรงเรียนในสังกัด 30,506 โรง ครู 451,038 คน และมีนักเรียน 6,856,274 คน ซึ่งข้อมูลนี้ทำให้พบว่าอัตราเด็กลดลงแต่จำนวนครูเพิ่มขึ้น แต่สาเหตุใดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กลับยังขาดแคลนอัตรากำลังครูอยู่ ว่า เรื่องนี้ตนไม่อยากให้ดูตัวเลขปลายทาง ซึ่งหากมองทั้งสองทาง คือ ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าโรงเรียนไม่ได้ขาดครู แต่ไปสำรวจโรงเรียนกลับขาดครู
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ อยากให้มีการแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น ซึ่งขณะนี้ตนกำลังศึกษารายละเอียดในนโยบายหนึ่งที่ระบุว่า ครูประถมศึกษากำหนดให้เป็นครูรายวิชาทั้งหมด และทราบอีกว่าในอดีตครูประถมศึกษาถูกเรียกว่าครูประจำชั้น ดังนั้นเมื่อครูประจำชั้นคือครูประถมศึกษาสามารถสอนได้ทั้งหมดทั้งเด็กที่เรียนป.1 และ 2 จึงเท่ากับเราก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องการจำนวนครูอีก เช่น โรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นโรงเรียนประถมศึกษา มีจำนวน 15,000 โรงหากใช้ระบบครูประถมศึกษาสอนทั้งหมดก็จะแก้ปัญหาขาดครูได้ เป็นต้น ขณะเดียวกันหน่วยผลิตครูอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฎก็อยากให้มีการฟื้นระบบครูประจำชั้นเหมือนเดิม เพื่อที่จะได้ผลิตครูประถมศึกษา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับพบว่าสพฐ.ไปเปิดรับสมัครครูรายวิชา จึงทำให้หน่วยผลิตต้องผลิตครูตามสาขาวิชา อย่างไรก็ตามหากจะนำระบบครูประถมศึกษามาใช้จริงจะต้องมาศึกษากันให้ดี เพราะคงไม่เร่งเปลี่ยนทั้งระบบต้องแก้ไขกันไปทีละจุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2561 เวลา 07.48 น.