บอร์ด กอปศ.ถก ปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ผุด 10 สมรรถนะหลักสร้างเด็กไทยในอนาคต
วันนี้ (17 ก.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งแผนดังกล่าวจะมารองรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...ที่ขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีส่วนหนึ่งที่ได้ระบุถึงการปรับการศึกษาจากฐานเนื้อหาสาระไปเป็นฐานสมรรถนะ เพราะที่ประชุมมองว่าในโลกปัจจุบันทุกวันนี้เนื้อหาสาระสามารถค้นคว้าได้ทั่วไปแต่การศึกษาควรมุ่งเน้นการสร้างฐานสมรรถนะการเรียนรู้ให้แก่เด็กมากกว่า ดังนั้นที่ประชุมจึงได้นำเสนอ ร่าง พระราชกฤษฎีกาตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอน ซึ่งสถาบันนี้จะทำให้เกิดการศึกษาที่เป็นการศึกษาฐานสมรรถนะ โดยรศ.ทิศนา แขมมณี ประธานคณะทำงานวางแผนจัดทำกรอบสมรรถนะหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เพื่อให้ได้คำตอบว่าการสร้างสมรรถการเรียนรู้ให้แก่เด็กจะมีทิศทางอย่างไร
“ขณะนี้ร่าง พระราชกฤษฎีกาตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอน ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ กอปศ.ไปแล้ว และคาดว่ากำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสถาบันดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ องค์ความรู้ ทักษะ และคุณธรรมจริยธรรม โดยทั้งสามส่วนจะเป็นหลักสำคัญ ทั้งนี้ผมมองว่าการมีสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนเกิดขึ้นจะเป็นหัวใจหลักของการจัดการศึกษา เพราะที่ผ่านมาเราเน้นให้โรงเรียนเป็นเหมือนองค์กรหลักในการปฏิรูปการศึกษามีความสามารถทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก็ให้มีการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียน แต่ผลการปฏิบัติจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ขณะเดียวกันยังให้โรงเรียนทำหลักสูตรสถานศึกษาแต่ก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นหากจะเกิดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีได้จะต้องมีหน่วยงานกลางนำองค์ความรู้ลงไปให้โรงเรียนปฏิบัติแบบดิจิทัลแพลทฟอร์ม ซึ่งก็คือการสร้างสมรรถนะการเรียนรู้
รศ.ทิศนา กล่าวว่า คณะทำงานของตนได้ทำวิจัยต่อยอดด้วยการรวบรวมข้อมูลจากผลงานที่มีผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์เรื่องการสร้างสมรรถนะการเรียนรู้มาก่อนแล้วจากนั้นตนจึงนำมาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำมาร่างเป็นกรอบสมรรถนะการเรียนรู้หลักขึ้นใน 10 ด้าน ได้แก่ 1.การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา 2.ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3.ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน 4.ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ 5.ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม 6.การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล 7.การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและภาวะผู้นำ 8.พลเมืองตื่นรู้ 9.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร และ10.คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน สำหรับกรอบสมรรถนะการเรียนรู้ดังกล่าวนั้นมีความหมายเป็นสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้เรียนที่เราต้องการจะให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนทุกคนที่เรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้งจะช่วยให้เราได้เด็กที่มีคุณสมบัติอันพึงประสงค์ คือ เป็นคนไทยที่ใฝ่รู้ มีความสามารถสูง และมีความใส่ใจสังคม
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม 2561 เวลา 15.24 น.