การศึกษาไทย…ไปถึงไหนแล้ว??
ที่มา คอลัมน์ มติชนมติครู
ผู้เขียน สหัส แก้วยัง
ย่างเข้าปีที่ 5 แล้วที่รัฐบาล คสช.ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบันที่ทุกคนถามถึงผลงานในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ทุกคนต่างมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าสอบผ่าน หรือสอบตก
ผลงานที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือผลงานด้านการศึกษาที่รัฐบาลนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมา 3 คน แล้วเป็นทหาร 2 คน ปัจจุบันคนที่ 3 เป็นนายแพทย์ มีการปฏิรูปการศึกษา ทุกคนที่เข้ามาบริหารกระทรวงศึกษาธิการ นโยบายการปฏิรูปการศึกษาจึงเกิดทุกยุคทุกสมัย และทุกคนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็จะเน้นการปฏิรูปการศึกษา
แต่ความเป็นจริง การปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน คุณภาพการศึกษาโดยรวมยังไม่ดีขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือคุณภาพการศึกษายังไม่บรรลุเป้าหมาย จึงทำให้วนไปวนมากับคำว่าปฏิรูปจนเราเคยชินเป็น คำธรรมดาๆ ขาดมนต์ขลังไปเสียแล้ว
รัฐบาลชุดนี้ก็เข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร มีการเพิ่มศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เราเคยมองว่าศึกษาธิการจังหวัดทำงานซ้ำซ้อน เป็นหน่วยงานที่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา เลยยุบมาเป็นเขตพื้นที่การศึกษาจนถึงปัจจุบัน และแล้วกลับมาเพิ่มศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ไม่รู้ว่าที่ตั้งหน่วยงานเพิ่มมานี้ จะส่งผลต่อคุณภาพมากน้อยแค่ไหน แต่ที่เห็นแน่ๆ คือเพิ่มตำแหน่ง เพิ่มซี 9 ซี 10 ขึ้นมาอีก
ผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แต่หากเปลี่ยนแปลงแล้วไม่ดีขึ้น แย่กว่าเดิม มีปัญหามากกว่าเดิม กระทบต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ ไม่เปลี่ยนแปลงเสียดีกว่า แทนที่การปฏิรูปจะส่งผลไปที่นักเรียน แต่การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ แทนที่จะเกิดกับนักเรียน แทบไม่เห็นเป็นมรรคเป็นผล ทำให้เราเสียโอกาสการพัฒนาคุณภาพนักเรียน
ทั้งๆ ที่เพื่อนบ้านเราในกลุ่มอาเซียนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปอย่างก้าวกระโดด ทิ้งเราไปชนิดไม่เห็นฝุ่น ดูอย่างประเทศสิงคโปร์ คุณภาพการศึกษาอยู่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แล้วหันมาดูไทยเราปฏิรูปการศึกษาแบบไหนถึงไม่ประสบผลสำเร็จสักที
การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงต้องลงไปสู่ที่โรงเรียน นักเรียน ครู และที่ผู้บริหารโรงเรียน อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปประสบผลสำเร็จ บุคคลเหล่านี้ที่จะก่อให้เกิดพลัง เกิดการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เท่าที่ผ่านมาไม่เห็นเป็นเนื้อเป็นหนังกับคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” เพราะการปฏิรูปการศึกษาทุกครั้งมักจะคิดนโยบายกันบนหอคอยงาช้าง ผลของการปฏิรูปจึงออกมาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
การปฏิรูปการศึกษา ถ้าจะให้เกิดผลจริงๆ ต้องลงไปที่ฐานรากของการศึกษา คือที่โรงเรียนจะเป็นการดีที่สุด ทุกครั้งที่มีการปฏิรูปการศึกษาจะเน้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างข้างบนเสียมากกว่า เสมือนปรับเปลี่ยนหลังคา แต่ไม่เน้นฐานรากที่จะทำให้คุณภาพการศึกษามีความมั่นคงแข็งแรง เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และนโยบายมักเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามตัวรัฐมนตรี จนผู้ปฏิบัติในระดับล่างปรับตัวแทบไม่ทัน คนมาใหม่ก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ เป็นนโยบายไฟไหม้ฟางที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาการศึกษาของไทย
ที่จะต้องรีบปฏิรูปคือ “คุณภาพการศึกษา” ประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งระดับชาติ หรือนานาชาติกี่ครั้ง คุณภาพการศึกษาเรายังเกือบรั้งท้าย เราต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นอกตรมว่าคุณภาพการศึกษาเรายังแย่ มีนักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดวิเคราะห์ไม่เป็นยังมีอีกเยอะมาก ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลยิ่งไม่ต้องพูดถึง ยิ่งในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ นักเรียนตามชายขอบและในถิ่นทุรกันดารที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ของประเทศ ที่ยังพบปัญหาอีกมากมายที่กระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทย เราจะปฏิรูปคุณภาพการศึกษานักเรียนเหล่านี้อย่างจริงจังอย่างไร
ผู้เขียนเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงก็คิดจะช่วยเหลือนักเรียนเหล่านี้ไม่ให้หลุดไปจากระบบข้อมูลที่จะพัฒนาคุณภาพให้ทัดเทียมกับนักเรียนในเขตเมือง ก็ต้องรีบดำเนินการ อะไรที่เป็นอุปสรรคต้องรีบแก้ไข และสนับสนุนให้เกิดผลทันที
เราจะปฏิรูปครูอย่างไรจึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะทำให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ อ่านออกเขียนได้ รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง ต้องเน้นการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง อย่างเข้มข้น เพิ่มทักษะวิธีการใหม่ๆ และติดอาวุธทางความคิดที่ทันสมัย ทันโลกทันเหตุการณ์ให้กับครู มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับครู ครูในเมืองมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทันสมัยอย่างไร ครูในชนบทที่ห่างไกลก็ต้องมีเหมือนกัน อย่าให้เกิดการเหลื่อมล้ำ เพราะนักเรียนในชนบทเสียโอกาสมานานแล้ว
ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งๆ เข้ามาเป็นครูให้มากๆ เหมือนที่สิงคโปร์ ไม่ใช่คนเก่งไปเรียนแพทย์ เรียนวิศวกรรมหมด เหลือที่ไปไหนไม่ได้มาเป็นครู เอาคนเก่งๆ มาเป็นครูเยอะๆ นักเรียนก็จะเก่งไปด้วย
ที่สำคัญต้องสร้างครูที่เป็นแบบอย่าง เป็นทั้งคนเก่ง เป็นทั้งคนดีด้วย งานไหนที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของครูที่จะกระทบต่อการทำหน้าที่การสอนของครูอันจะส่งผลต่อนักเรียนต้องตัดทิ้งไปให้หมด ต้องให้ครูมีเวลาเตรียมการวางแผนการสอนอย่างเต็มที่ อย่าให้ครูทิ้งนักเรียนไปทำภารกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนนักเรียนโดยไม่จำเป็นอีกเลย
ผู้บริหารโรงเรียนต้องได้รับการพัฒนาอย่างเข้มไม่แพ้ครู ต้องพัฒนาแบบคู่ขนานกันไป ต้องสร้างผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าอยู่เสมอ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณทางวิชาการให้กับครู ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเข้มทุกๆ 4 ปี ทดสอบสมรรถนะความรู้ความสามารถด้านการบริหาร หากทดสอบไม่ผ่านต้องไปเข้ารับการพัฒนาทดสอบจนกว่าจะผ่านการประเมิน หากไม่ผ่านให้เปลี่ยนสายงาน
และที่สำคัญต้องไม่ไปรับตำแหน่งอื่น กรรมการอื่นๆ เช่น กรรมการสหกรณ์ครู เป็นต้น ที่มีผลตอบแทนไม่ใช่เกี่ยวกับการบริหารงานในโรงเรียน หากไปเป็นต้องปรับลดเงินประจำตำแหน่ง เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบเวลาราชการไปหารายได้ทางอื่น
ผู้บริหารต้องอยู่โรงเรียน บริหารงานอยู่ที่โรงเรียน เสมือนแม่ทัพต้องบัญชาการในสนามรบ หากไม่อยู่ในสนามรบ ปล่อยให้ทหารที่เป็นลูกน้องรบกันเอง มีแต่แพ้กับแพ้ ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้บริหารโรงเรียนบางคนเป็นกรรมการหลายตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานโรงเรียน แทบไม่มีเวลาอยู่บริหารโรงเรียนเลย แล้วคิดจะปฏิรูปกันบ้างไหม ลองไปสำรวจดูหากพบข้อมูลแล้วจะตกใจ
ถ้าไม่ปฏิรูปครู ผู้บริหารโรงเรียน และปฏิรูประบบการเรียนสอนให้กับนักเรียน ดูแล้วยากมากที่จะปฏิรูปการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ
ถึงเวลาแล้วที่จะปฏิรูปการศึกษาที่ให้ได้ผลจริงๆ ไม่ต้องไปปรับโครงสร้างอะไรให้มันดูวุ่นวาย สับสนเหมือนที่ทำกันปัจจุบันนี้ ผู้เขียนคิดว่าทุกวันนี้ปฏิรูปแต่เปลือก ไม่ถึงแก่นแท้ จะปฏิรูปการศึกษากันกี่ยุคกี่สมัยก็เหมือนเดิม บางยุคแย่ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก พอแล้วกับการลองผิดลองถูกของผู้มีอำนาจทั้งหลาย
หากคิดจะปฏิรูปการศึกษาต้องเอานักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน และโรงเรียน เป็นตัวตั้ง
การปฏิรูปครั้งนี้แม้ว่าดูจากภายนอกจะสะท้อนถึงความสำเร็จ แต่ภายในดูล้มเหลว มองอีกมุมก็เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผ่านมา 4 ปีแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
จะถามว่าการศึกษาไทยไปถึงไหนแล้ว ช่วยตอบด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 - 16:34 น.