ชู 5 กลไกขับเคลื่อนระบบ “จรัส” มั่นใจเกินร้อยปฏิรูปได้ตามสังคมหวัง
ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ภายในเดือน ก.ค.นี้ โดย กอปศ.ได้คงเรื่องที่ดีใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ไว้ และนำสิ่งที่ต้องปรับปรุงตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศมาดำเนินการ เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพและเป็นสากล รวมทั้งนำสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 อาทิ การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา รวมทั้งสร้างความมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้มั่นใจเกิน 100% ว่าร่างฉบับนี้จะปฏิรูปการศึกษาได้ตามที่สังคมคาดหวัง
ด้าน นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กอปศ. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มี 104 มาตรา สรุปสาระสำคัญ 5 ประเด็นที่จะช่วยในการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่
1.การวางระบบการศึกษาที่รองรับความหลากหลาย ความแตกต่างและเริ่มพัฒนาระบบการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต
2.การยกระดับคุณภาพการศึกษา ในส่วนของครูที่จะมีการจัดตั้งกองทุนการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการพัฒนาและคัดเลือกสถาบันผลิตครูที่เหมาะสม ขณะที่หลักสูตรและการจัดการศึกษาจะให้ความสำคัญกับการเน้นสมรรถนะที่จะสร้างคนดีและเก่งให้กับสังคม
3.การให้ความเป็นอิสระกับสถานศึกษา
4.การบริหารจัดการระบบคุณภาพ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพไม่ใช่การตรวจสอบ และนำผลการประเมินมาใช้พัฒนาขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพทั้งระบบ
5.การให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ยกร่างแผน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้วางกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อได้ยกร่างแผนการศึกษาแห่งชาติแล้วจะดำเนินการตามแผน อาทิ ให้ความเห็นในการจัดสรรงบฯ อัตรากำลังคนและการติดตามประเมินผล มีบทเฉพาะกาล 12 มาตรา อาทิ กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่จะให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษามาทำหน้าที่นี้.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 11 กรกฎาคม 2561