รมว.ศึกษาธิการ ชง คสช. ปรับลดตำแหน่งศึกษาธิการภาคจาก 18 ตำแหน่ง เหลือ 6 ตำแหน่ง ชี้ ข้าราชการระดับ 10 มีจำนวนมากซ้ำซ้อนเกินไป
วันนี้ (2 ก.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้หารือร่วมกับนายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กรณีที่ตนเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และประกอบมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เกิดจากข้อที่ 13 ซึ่งเดิมกำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด และกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้อำนวยการการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อเตรียมชี้แจงให้ฝ่ายกฎหมายของคสช.เพราะ คสช.จะดูความเหมาะสมและความจำเป็นว่าเรื่องต่างๆที่ขอปรับแก้มีความจำเป็นต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.หรือไม่ หรือสามารถดำเนินการตามขั้นตอนการใช้กฎหมายแบบปกติได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการหารือกับนายพินิจศักดิ์ก็เป็นประเด็นเดิมๆไม่ได้ตัดอะไรมาก เช่น แก้ไขให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ 2 คณะ คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา และคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มี ศธจ.เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมีผู้อำนวยการ สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง รวมถึงการให้มี อ.ก.ค.ศ.สพฐ.ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารงานบุคคลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฎิรูการศึกษาในปัจจุบันที่ สพฐ.ต้องดำเนินการไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงเรียนพาทเนอร์ชิพสคูล โรงเรียนเขตพื้นที่พิเศษ นอกจากนี้ประเด็นสำคัญคือขอปรับลดจำนวนศึกษาธิการภาค (ศธภ.) จาก 18 ภาคให้เหลือ 6 ภาค ตามการแบ่งภูมิภาคบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล รวมถึงการปรับลดดังกล่าวก็ต้องการลดจำนวนข้าราชการระดับ 10 ที่มีมากและซ้ำซ้อนจนเกินไป อีกทั้งจะช่วยลดงบประมาณของรัฐบาลลงด้วย เพราะตำแหน่งดังกล่าวมีทั้งเงินประจำตำแหน่งและรถยนต์ประจำตำแหน่ง
“ผมยังได้หารือกับฝ่ายกฎหมายคุรุสภาเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและประธานคณะกรรมการคุรุสภาว่าจะมีความจำเป็นในการขอใช้อำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช.ม.44 ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันคุรุสภาไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจึงทำให้ไม่สามารถเลือกประธานคุรุสภาและไม่สามารถแต่งตั้งประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ได้ ส่งผลให้งานด้านพิจารณาเกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นผมจะผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านวิชาชีพครูมีประสิทธิภาพต่อไป” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561 เวลา 15.48 น.