สถานี ก.ค.ศ.
การชี้แจงข้อร้องเรียนกรณีการประเมินวิทยฐานะ ว 13/2556 (1)
ตามที่มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ว 13/2556 ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้สำนักงาน ก.ค.ศ. ชี้แจงและทบทวนให้กับผู้ได้รับผลกระทบ นั้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ขอเรียนชี้แจงแต่ละประเด็นในเบื้องต้น ดังนี้
1. ผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ไม่เป็นธรรม เนื่องจากรางวัลที่ไม่ได้กำหนดไว้ใน ว 13/2556 ก.ค.ศ. อนุมัติไห้เทียบเคียงได้ แต่ครั้งนี้ ว 1/2559 ก.ค.ศ. ไม่พิจารณาผลงานเทียบเคียง
ขอเรียนว่า เมื่อครั้งที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ครั้งแรก (ว 5/2554) ในปี พ.ศ. 2554 นั้น ด้วยความที่เป็นหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่งประกาศใช้ จึงทำให้ส่วนราชการนำเสนอรางวัลให้ ก.ค.ศ. พิจารณาจำนวนไม่มาก และ ก.ค.ศ. ได้พิจารณารับรองรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป จำนวน 145 รางวัล (ว 12/2554 ว 15/2554 ว 10/2555 และ ว 13/2556) ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอผลงานเทียบเคียง ปรากฏว่ามีการเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ ที่ส่วนราชการไม่ได้เสนอให้ ก.ค.ศ. รับรองมาแต่ต้น ซึ่งหลายรางวัลมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป ก.ค.ศ. จึงพิจารณาให้นำผลงานที่ได้รับรางวัลเหล่านั้นมาเสนอเป็นผลงานเทียบเคียงได้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 - 2559 ส่วนราชการมีข้อมูลและความพร้อมมากขึ้น เมื่อ ก.ค.ศ. เปิดให้มีการยื่นคำขอได้อีกครั้ง จึงได้เสนอรางวัลให้ ก.ค.ศ. รับรองเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปเป็นจำนวนมาก (539 รางวัล) แต่เนื่องจากบางหน่วยงานมีการให้รางวัลเพิ่มเติมและยังมิได้เสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณา หรือบางรางวัลที่เคยรับรองแล้ว ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการให้รางวัล ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณามีมาตรฐานจึงจำเป็นต้องมีการทบทวนรางวัลใหม่ โดยให้ส่วนราชการที่เสนอรางวัลได้มีส่วนร่วมในการพิจารณารับรองด้วยทุกครั้ง และ ก.ค.ศ. ได้พิจารณามีมติรับรองจำนวน 203 รางวัล (ว 1/2559) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถนำรางวัลที่ ก.ค.ศ. ได้เคยพิจารณาแต่ต้นแล้วว่ามีคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์รางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป (336 รางวัล) มาเสนอขอเทียบเคียงได้อีก
อย่างไรก็ดี ก.ค.ศ. ได้เปิดโอกาสให้นำผลงานมาเสนอเทียบเคียงเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป โดยให้วิเคราะห์ตามองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ได้แก่ (1) ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานจนเป็นที่ประจักษ์และมีหลักฐานชัดเจน (2) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (3) เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ชุมชน สังคม วงวิชาการ และวงวิชาชีพ และ (4) เป็นแบบอย่างที่ให้ผู้อื่นสามารถนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้ โดยต้องมีเอกสารหลักฐานมาประกอบการพิจารณาด้วย มิใช่นำรางวัลที่ ก.ค.ศ. ไม่รับรองมาเทียบเคียง ฉะนั้นการพิจารณาจึงมีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ไม่เกิดความลักลั่น และเป็นการยืนยันสร้างความเชื่อมั่นได้ว่ามีความเป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาในทุกระดับ
2. ใช้เวลาในการพิจารณานานเกินไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ทำให้หลายคนเสียสิทธิ์ เพราะจะเกษียณอายุราชการ
ขอเรียนว่า ส่วนราชการได้เสนอรายชื่อและส่งคำขอของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกถึงสำนักงาน ก.ค.ศ. เมื่อเดือนกันยายน 2559 และการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีหลายขั้นตอน ต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ ในการพิจารณาคุณสมบัติในแต่ละสายงานเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และแม้ว่าสำนักงาน ก.ค.ศ. มีข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว จำนวน 22 คน ซึ่งเป็นอัตรากำลังที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนคำขอทั้งสิ้น 5,337 ราย แต่ก็ได้ให้ความสำคัญในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังมาโดยตลอด ด้วยการจัดลำดับความสำคัญในการวิเคราะห์คำขอของผู้ที่เกษียณอายุราชการในแต่ละปีตามลำดับก่อน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ได้จัดประชุมอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจฯ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 3 คณะฯ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขออย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเสนอไปแล้ว จำนวน 1,888 ราย เป็นผู้มีคุณสมบัติ 364 ราย และเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติ 1,524 ราย และเจ้าหน้าที่ได้วิเคราะห์แล้ว รอเสนอที่ประชุมอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจฯ จำนวน 1,790 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิ.ย. 61) พร้อมทั้งได้แจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติให้ส่วนราชการต้นสังกัดทราบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีผู้ไม่มีคุณสมบัติ ในระยะแรกเป็นการแจ้งรายชื่อให้ส่วนราชการทราบเป็นข้อมูลเบื้องต้นก่อน และสำนักงาน ก.ค.ศ. จะได้แจ้งเหตุผลตามที่ ก.ค.ศ. มีมติว่าไม่มีคุณสมบัติให้ส่วนราชการต้นสังกัดทราบเพื่อแจ้งผู้ขอต่อไป ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการเสียสิทธินั้น ผู้ที่ยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ ว 13/2556 ก็สามารถยื่นคำขอตามหลักเกณฑ์ ว 17/2552 ได้ในคราวเดียวกัน จึงไม่ได้ทำให้เสียสิทธิแต่ประการใด
สำหรับประเด็นข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการพิจารณาคุณสมบัติและการทบทวนมติ ก.ค.ศ. นั้น จะได้นำเสนอในสัปดาห์หน้าต่อไปครับ
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.”
หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2561
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ. วันจันทร์ ที่ 18 มิถุนายน 2561