ผู้เขียน กนกศักดิ์ พ่วงลาภ
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปประชุมในสถานศึกษาแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดการศึกษาระดับปฐมวัยไปจนถึงมัธยมปลาย โรงเรียนนี้พอมีชื่อเสียงอยู่ในย่านดอนเมือง มีนักเรียนที่จบไปเป็นที่รู้จักของประชาชน อย่างน้อยคนหนึ่งเป็นดาราโด่งดังมาก เป็นดาวค้างฟ้าอยู่เวลานี้ ในวันนั้น ผู้เขียนไปประชุมในฐานะประชาชนธรรมดาไม่ได้ถูกเชิญในกิจการเฉพาะเจาะจงใดๆ
ในวันนั้นมีการถามว่า อาหารมื้อกลางวันของนักเรียนที่เป็นเด็กเล็ก ปฐมวัย มีผลไม้จัดมาให้รับประทานด้วยหรือไม่ คุณครูท่านหนึ่งตอบว่า ไม่มี ผู้เขียนสะดุ้งโหยงสุดตัว กับคำตอบ “ไม่มีผลไม้” ไม่รู้คนอื่นสะดุ้งด้วยหรือไม่ ก็ไม่รู้ แต่เห็นคนอื่นในที่ประชุมหันขวับมามองผู้เขียน ราวกับว่าจะเอาอะไรกันหนักหนากับผลไม้ แต่ผู้เขียนกลับคิดว่าผลไม้นี่แหละจำเป็นสำหรับเด็กมากๆ เลยทีเดียว เพราะอยู่ที่บ้านเด็กก็ไม่ค่อยกินผักผลไม้ หากอยู่ที่โรงเรียนแล้ว ถ้าทางโรงเรียนมีผลไม้มาให้ เด็กนักเรียนคงต้องเกรงใจครูบ้างและทำให้เด็กกินผลไม้นั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่ร่างกายเด็กเอง
ผลไม้ย่อมมีวิตามินและเอนไซม์ (เอนไซม์ที่มีชีวิต ซึ่งคนญี่ปุ่นรู้เรื่องอาหารเหล่านี้เป็นอย่างดี) เอนไซม์เหล่านี้จำเป็นต่อการเชื่อมต่อและการแปลงรูปใช้ประโยชน์จากสารอาหารอื่นๆ ถ้าไม่มีผลไม้ในมื้อนั้นๆ สารอาหารจากอาหารชนิดอื่นไม่สามารถดูดซึมไปเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้เต็มที่ ข้อนี้คนทั่วไปที่พอคุ้นกับหลักวิทยาศาสตร์คงทราบดี อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอให้ผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของผลไม้ที่จะต้องจัดให้พร้อมอาหารสำหรับเด็ก และให้บันทึกไว้ในการประชุมครั้งนั้นด้วย
เรื่องเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับสถานศึกษาแห่งอื่นอีก โดยเฉพาะสถานศึกษาเอกชนที่ภาครัฐเอื้อมมือไปไม่ค่อยถึง สำหรับผู้เขียน เห็นว่าการศึกษาเอกชนถ้าจัดการได้ไม่ดีพอ ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้เหมือนบริการประเภทอื่น ทำนองเดียวกับการบริการทางการแพทย์
การติดกับดักทางการบริหารยังมีอยู่อีกหลายประเด็น ที่พบได้ตามโรงเรียนทั่วไป กับดักที่ว่านั้นคือการให้ความสำคัญกับรูปแบบมากกว่าเนื้อหา โรงเรียนเหล่านี้ให้นักเรียนทั้งเด็กเล็กและเด็กโตเข้าแถวตอนเช้าเพื่อฟังผู้บริหารพูดในแต่ละวัน เด็กเล็กบางชั้น เช่น ปฐมวัย ป.1 ป.2 แทบจะไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้บริหารพูดเพราะเป็นเรื่องที่ผู้บริหารโรงเรียนควรจะพูดกับครูอาจารย์เท่านั้น เฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่เด็กควรรู้ แต่เด็กน่าจะได้รับแจ้งจากครูประจำชั้นมากกว่าที่จะให้ได้รับโดยตรงจากผู้บริหาร แทนที่จะให้เด็กมาเข้าแถวฟัง สู้เอาเวลานี้ไปตรวจสอบว่าเด็กแต่ละคนกินข้าวเช้ามาหรือยัง ถ้ายังไม่ได้กินก็เปิดโอกาสให้เด็กไปกินได้ ซึ่งน่าจะมีเวลาสักครึ่งชั่วโมง เพราะใครๆ ก็รู้ว่าปัจจุบันนี้การจราจรติดขัดมาก เด็กบางคนต้องรีบมาโรงเรียนโดยยังไม่ได้กินข้าวเพื่อที่จะมาฟังผู้ใหญ่พูดเรื่องต่างๆ โดยไม่จำเป็น ข้อมูลบางอย่างที่ผู้บริหารนิยมพูดกันหน้าเสาธงนั้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกี่ยวกับนักเรียน เป็นการกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาเสียมากกว่า และถึงจะเป็นข้อความที่จำเป็นต้องให้นักเรียนรับทราบ ก็น่าจะให้ครูประจำชั้นแจ้งนักเรียนในห้องได้ ไม่น่าจะให้ผู้บริหารพูดโดยตรงต่อนักเรียน เพราะผู้บริหารนั้นมีไว้เพื่อการบริหาร ย่อมแยกต่างหากจากการเรียนการสอนของครูอาจารย์ผู้ปฏิบัติงานการสอน และแยกต่างหากจากนักเรียน
ในเรื่องรูปแบบอีกอย่างที่เคร่งครัดกันมาก คือการตัดผมของนักเรียน ซึ่งบางโรงเรียนกำหนดให้นักเรียนตัดผมพร้อมๆ กัน และมีการตรวจผม ใครไม่ตัดจะถูกลงโทษ ซึ่งในความคิดผู้เขียนเห็นว่า คนเราไม่จำเป็นต้องตัดผมพร้อมกัน การตัดผมควรจะเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างตัดได้ เพราะผมของคนเรายาวไม่เท่ากัน และเหนือกว่านั้นการบังคับให้ตัดผมพร้อมกันอาจเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของนักเรียนมากเกินไป อาจจะต้องไล่เรียงกันดูว่ามีระเบียบของโรงเรียนข้อไหนที่กำหนดไว้อย่างนั้น และหากมีกำหนดไว้จริงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ยิ่งเป็นโรงเรียนของรัฐยิ่งต้องระวังเรื่องระเบียบทำนองนี้ว่าสักวันจะเข้าตัวผู้บริหารเสียเอง เพราะรัฐธรรมนูญผูกพันทุกๆ หน่วยงานของรัฐ
ในเรื่องการลงโทษนักเรียนที่ไม่ตัดผมมาตามที่โรงเรียนกำหนดนี้ มีบางโรงเรียนได้มีการลงโทษโดยการตัดผมนักเรียนให้แหว่งไปเลยในวันที่ตรวจ เพื่อเป็นการบังคับกลายๆ ว่าทำให้ต้องรีบไปตัดผมเสียให้เรียบร้อย มิฉะนั้นจะทนอยู่ไม่ได้ เพราะน่าเกลียดเหลือเกิน แต่นักเรียนคนนั้นเหมือนถูกประจานให้เพื่อนๆ และคนในโรงเรียนเห็นไปทั้งวันว่าโดนทำโทษมาอย่างนี้ ในความเห็นของนักกฎหมาย การทำโทษอย่างนี้น่าจะทำไม่ได้ เพราะเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ผู้กระทำอาจมีความผิดกฎหมายอาญาได้ในฐานความผิดต่อเสรีภาพ เพราะเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมจำนนต่อสิ่งใดๆ ที่ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมได้ตามกฎหมาย และถ้าครูผู้กระทำเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐด้วยแล้ว น่าพิจารณาถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไว้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับข้าราชการ ส่วนสำหรับโรงเรียนและผู้บริหารก็ย่อมกระทบด้วยที่ละเว้นไม่กำกับดูแล
การที่นักเรียนไม่ตัดผมตามกำหนดเวลาที่โรงเรียนกำหนดนั้น (ซึ่งการกำหนดนี้ก็น่าจะทำไม่ได้ แต่เอาเถอะสมมุติว่าทำได้ มีการกำหนดวันตัดผมไว้แล้วตามระเบียบอะไรก็ไม่รู้) โรงเรียนจะลงโทษได้เพียงการตัดคะแนนนักเรียน กับการเรียกผู้ปกครองมาพบ ไม่เห็นมีทางใดที่โรงเรียนจะมีอำนาจกล้อนผมนักเรียนไปในทางเสียหายอย่างที่บางโรงเรียนทำ ไม่ว่าจะอ้างด้วยกฎหมายหรือด้วยระเบียบ หรือด้วยหลักอะไรก็แล้วแต่ เมืองไทยเราไม่เคยมีหลักแบบนี้มาก่อน
เพราะหลักหรือกฎระเบียบอะไรก็แล้วแต่ ย่อมจะขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ได้
ในความเห็นของผู้เขียน กฎระเบียบบางอย่างในสถานศึกษานั้นลองมารื้อกันดูดีๆ จะพบว่ายังขัดแย้งต่อกฎหมายอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ที่น่ากลัวก็คือ ผู้ปกครองไม่ค่อยจะร้องเรียน เพราะกลัวมีปัญหากับโรงเรียน เพราะบุตรหลานที่เป็นนักเรียนก็ยังต้องเรียนต่อไปให้สำเร็จ การมีปัญหากับโรงเรียนทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่ไม่ราบรื่นกับการศึกษาของบุตรหลานตามมาได้ ผู้ปกครองมักจะยอมจำนนต่อสิ่งต่างๆ เพราะโรงเรียนกุมหัวใจเด็กนักเรียนไว้ ก็เหมือนกุมหัวใจของผู้ปกครองไว้เช่นกัน แต่ก็จะปล่อยให้โรงเรียนทำตามใจตัวเองอยู่เรื่อยๆ ไปจนเกินขอบเขตไม่ได้อีกเหมือนกัน
ปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการการตรวจสอบจากสังคมอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิเด็ก เพราะประเทศไทยเองในขณะนี้ก็ผูกพันตามอนุสัญญาสิทธิเด็กอยู่ด้วย ความจำเป็นที่จะต้องอนุวัติกฎหมายภายในให้เป็นไปตามอนุสัญญาก็มีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ถ้าใครอยู่ในแวดวงการศึกษาก็ควรระมัดระวังเรื่องนี้ให้จงหนัก
การจัดการศึกษาและการบริหารสถานศึกษาในปัจจุบันนี้ไม่ง่ายแล้วนะครับ
- กนกศักดิ์ พ่วงลาภ -
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 19 มิถุนายน 2561