เลขาธิการ กพฐ.เผย เตรียมรื้อใหญ่แก้ระเบียบรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562 เน้นให้เด็กในเขตพื้นที่บริการของสถานศึกษาได้มีสิทธิได้รับการคัดเลือก
วันนี้ (18 มิ.ย.)ดร . บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)จะกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการเรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะ หรือ เงินกินเปล่า นั้น ตนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อประสานกับ ป.ป.ช.และถ้ากฎหมาย ป.ป.ช.ออกมาอย่างไรก็ให้แก้ไขปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการระดมทรัพยากรของสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ใหม่ เพราะกฎหมายของ ป.ป.ช.มีศักดิ์เหนือกว่าระเบียบของ สพฐ.
“แผนงานที่ต้องทำต่อไปเกี่ยวกับสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.คือ เรื่องการระดมทรัพยากรจะทำอย่างไร ทำได้หรือไม่ ขณะเดียวกันจะแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรับนักเรียนใหม่ โดยให้เน้นเรื่องการให้เด็กในเขตพื้นที่บริการของสถานศึกษาได้มีสิทธิได้รับการคัดเลือก ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)เพื่อแจ้งให้โรงเรียนได้ตรวจสอบเขตบริการของตนเองให้ชัดเจนว่าจะประกาศอย่างไร เพราะเขตบริการจะมีผลต่อการดำเนินการตามระเบียบใหม่ ซึ่งภายในเดือนมิถุนายนนี้น่าจะมีการตั้งคณะทำงานปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยการรับนักเรียน และจะประกาศในเดือนธันวาคม 2561เพื่อใช้ในการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2562” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องจำนวนนักเรียน 40 คน ต่อ 1ห้องเรียน ว่าจะคงไว้ในสัดส่วนเดิมหรือไม่นั้น ต้องดูในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ก่อน ซึ่งโดยหลักการนักเรียน 35-40 คนต่อห้องเรียนถือเป็นตัวเลขที่เหมาะสมของการจัดการศึกษาแต่ละระดับ แต่ก็ต้องดูท้อเท็จจริงในพื้นที่ว่าถ้ามีโรงเรียนเดียวแล้วเด็กไม่มีที่ไปก็ต้องยึดประโยชน์ของเด็กหรือจำนวนผู้รับบริการ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องปรับตาม เช่น เพิ่มห้อง เพิ่มครู เป็นต้น ทั้งหมดนี้ต้องดูข้อมูลก่อน ถ้าไม่ดูข้อมูล ก็จะทำให้เป็นการบริหารโดยไม่ดูข้อเท็จจริง และเท่าที่เห็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเด็กต่อห้องก็เยอะ แต่คุณภาพก็ยังสูงอยู่
ต่อข้อถามการล็อคจำนวนนักเรียนต่อห้องไว้ทำให้มีปัญหาใช่หรือไม่ ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ตนมองว่าเป็นข้อติดขัดในการดำเนินการตามระเบียบที่เราไม่ได้ดูข้อเท็จจริงก่อน เพราะฉะนั้นในปีการศึกษาหน้าต้องนำประสบการณ์การทำงานที่ติดขัดในปีนี้มาพัฒนา ซึ่งก็มีข้อมูลใหม่ๆหลายเรื่องเช่นการเคลื่อนย้ายของผู้ปกครองที่อยู่ในวัยทำงานส่งผลให้เด็กย้ายเข้าย้ายออกจากพื้นที่ การรองรับระบบคมนาคมขนส่งรถไฟฟ้าที่จะทำให้ชุมชนหนาแน่นขึ้น เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) กทม.2 ที่มีจำนวนคนเยอะแต่โรงเรียนน้อย สพฐ.ก็ต้องรีบเคลียร์ข้อมูลทุกอย่างให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการรับนักเรียนไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่มารับมือทีเดียวตอนรับนักเรียนเท่านั้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2561 เวลา 08.14 น.