กลุ่ม ผอ.รร. ครู และ บุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตามเกณฑ์ ว13 นัดเสวนาที่โรงเรียนหอวัง ด้าน "พินิจศักดิ์” แจงทำถูกแล้ว ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิฯวอน เสมา1 ทบทวน
วันที่(7มิ.ย.) จากกรณีที่กลุ่มข้าราชการครูและผู้บริหารทางการศึกษา ซึ่งยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ ศธ. 0206.3/ว13 เรื่อง การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสพผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ เรียกร้องให้ ก.ค.ศ. ชี้แจงถึงการพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้ารับการประเมิน หลังพบว่า มี ผู้อำนวยการโรงเรียน(ผอ.รร.) ครู และบุคลากรทางการศึกษา กว่า 1,000 รายได้รับหนังสือแจ้ง ว่าไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน ทำให้หลายคนรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่ง ทาง ผอ.รร. ครูและบุคลากรทางการศึกษา ยื่นขอประเมินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 แต่ก.ค.ศ.เพิ่งมีหนังสือมีหนังสือแจ้งกลับมาว่า ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน เมื่อเดือนมีนาคม 2561นั้น
นายยศรินทร์ ตลับนาค ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบประเมินผลและนิเทศการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 2 กทม. กล่าวว่า วันนี้ตนได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ขอให้ทบทวนการพิจารณาการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตาม ว13 ส่วนตัวไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ในฐานะผู้พิจารณากลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น อยากออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ ผอ.รร. ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ก.ค.ศ. เปิดโอกาสให้ยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามเกณฑ์ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2559 แต่เพิ่งส่งหนังสือมาแจ้ง ว่า คุณสมบัติไม่ครบในปี 2561 ผ่านไป 2 ปี ทำให้บางคนเสียโอกาส
“โดยหลักต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้ขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ควรเป็นปีต่อปีแต่นี่ล่วงเลยมา 2 ปี แล้วเหมือนเหมาเข่งปลาทู พิจารณาไม่ทันก็อ้างว่าคุณสมบัติไม่ครบ จึงอยากถามว่า ก.ค.ศ.มีเกณฑ์การพิจารณาเช่นไร ว่าคุณสมบัติครบ ไม่ครบแล้ว ทำไมถึงปล่อยเวลาล่วงเลย 2 ปีเพิ่งมาแจ้ง ทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียสิทธิ ทำลายขวัญกำลังใจ ซึ่งผมห่วงว่าจะมีการรวมตัวกันครั้งใหญ่ ตัวผมเองไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเรื่องนี้ แต่ผมมองถึงศักดิ์ศรีความเป็นครู บางคนกว่าจะได้รับรางวัลระดับชาติ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเรื่องยากและสะท้อนถึงกระบวนการตรวจสอบของเขตพื้นที่ฯเองด้วย เช่น ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิฯในสพม.เขต 2 กทม.ที่ผ่านมามีครูส่งผลงานมารับการพิจารณา นั่นหมายความพวกเราบกพร่องหน้าที่กันหมด อยากเรียกร้องให้รมว.ศธ. ทบทวนการการพิจารณาเรื่องนี้ หากมีปัญหาคุณสมบัติไม่ครบก็แจงให้ชัดเลยว่าขาดเรื่องใด รวมถึงขอให้ปฏิรูปการทำงานก.ค.ศ.ด้วย” นายยศรินทร์ กล่าว
ด้าน นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรงค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า ยืนยันว่า ก.ค.ศ.พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ทั้ง ว 13 และพิจารณาผลงานดีเด่นที่ได้รับรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป ซึ่งชื่อรางวัลและการกำหนดเงื่อนไขการรับรองรางวัล กำหนดไว้ใน ว1 /2559 ที่ระบุชัดเจนว่า รางวัลระดับชาติที่จะใช้ในการพิจารณา มีทั้งหมด 203 รางวัล รวมถึงต้องอยู่ในกรอบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ก.ค.ศ.กำหนด การแจ้งชื่อรางวัลตามหลักเกณฑ์ ว 1 ก.ค.ศ. ไม่ได้แจ้งกะทันหัน โดยแจ้งตั้งแต่ปีปี 2559 ก่อนที่จะเปิดให้ยื่นข้อรับการประเมิน
“ขณะนี้ตัวเลขผู้ที่คุณสมบัติไม่ครบ ยังไม่ชัดเจน แต่เท่าที่ดูยังไม่น่าถึง 1,000 คน ส่วนคนที่จะฟ้องนั้นก.ค.ศ. คงไม่พูดอะไร ถือเป็นสิทธิหากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ผมพยายามย้ำกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ชัดว่า มีคุณสมบัติ หรือไม่มีคุณสมบัติ เพราะอะไร ยืนยันว่า ก.ค.ศ.ไม่ได้ดำเนินการล่าช้า โดยจะเร่งดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คิดว่าไม่เกิดเดือนกันยายน เพราะผมเองก็จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้เช่นกัน”นายพินิจศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 มิถุนายน นี้ ทางกลุ่มผอ.รร. ครู และ บุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะดังกล่าว จะจัดสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีนายอภิชาติ จีรวุฒิ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อดีตผู้แทนและผู้บริหารในก.ค.ศ. รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบร่วมเสวนา ที่โรงเรียนหอวัง กรุงเทพฯ เวลา 13.00-16.30 น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2561