รมว.ศึกษาธิการ ลั่นหากโครงการไม่ดีจริงพร้อมยกเลิก ไม่ยึดติด
วันที่ 5 มิ.ย.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าหลักสูตรของหน่วยพัฒนาครูในโครงการคูปองพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ รายหัวละ 10,000 บาท ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 785 หลักสูตร เปิดให้ครูเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อช็อปปิ้ง แต่เมื่อถึงเวลาหลักสูตรกลับหายไปหลายหลักสูตร ส่งผลให้ครูที่จองหลักสูตรไว้เดือดร้อน ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเกิดจาก สพฐ.ดึงหลักสูตรกลับไปพิจารณาอีกรอบพร้อมยกเลิกการจอง เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณรองรับ ว่าตนจะลงไปตรวจสอบเรื่องนี้ ว่าปัญหาส่วนใหญ่คืออะไร เพราะมีการโจมตีกันมาโดยตลอด ซึ่งเท่าที่ดูผู้ที่ออกมาโจมตี เป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่หลักสูตรไม่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา ส่วนเรื่องงบฯ นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า การดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้มีการของบฯ เพิ่มเติม สพฐ.บริหารจัดการงบฯ เองทั้งหมด เพื่อลดอำนาจจากส่วนกลางซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
"คนที่ออกมาโจมตี เป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง อยากให้ครูที่เห็นประโยชน์จากโครงการนี้กว่า 3 แสนคนออกมาพูด ออกมาเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ด้วยว่าของดีเป็นอย่างไร แต่ถ้าต้องการให้เป็นแบบเดิม ผมก็จะให้เป็นแบบเดิม ถ้าโครงการนี้ไม่ดีจริงผมก็พร้อมจะยกเลิก ผมไม่ยึดติด ส่วนที่ร้องว่าเพราะ ศธ.ไม่จัดงบฯ ก็ไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการงบฯ ของ สพฐ.ไม่มีการจัดงบฯ เพิ่ม งบฯ ที่ทำเรื่องนี้ไม่มีมาตั้งแต่แรก และไม่ใช่ว่าทุกคอร์สจะทำอะไรได้ตามใจชอบ ทุกอย่างต้องมีหลักเกณฑ์ เพื่อความยุติธรรม แต่ละคอร์สการอบรมจะต้องรวมค่าเดินทางไว้ด้วย"
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า คงไม่ต้องขึ้นแบล็คลิสใคร เพราะตนไม่มีปัญหากับใคร แต่ถ้าใครมีปัญหาอะไรก็ให้แจ้งมาได้ที่สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สพค.) สังกัด สพฐ.ซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้เสนอหลักสูตรบางรายมองว่าหลักสูตรรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา แล้วแต่กลับไม่สามารถเปิดอบรมได้ เหมือนเป็นการกลับลำ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ไม่ได้กลับลำ สถาบันคุรุพัฒนา มีหน้าที่ดูแลด้านวิชาการให้การรับรองว่าหลักสูตรที่เสนอมาเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน แต่ สพค.ของ สพฐ. เป็นคนจ่ายเงิน มีหน้าที่ควบคุม และบอกว่าจะเอาหรือไม่เอาหลักสูตรไหน ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าทุกหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนา อนุมัติแล้ว สพค.จะต้องให้ผ่านทั้งหมด อย่างเช่นหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนา ให้การรับรองแล้ว แต่สพค.บอกว่าแพงไป ยังไม่ซื้อก็สามารถทำได้ ตรงนี้ถือเป็นความยุติธรรม เพราะสพค.เป็นคนจ่ายเงิน จึงมีอำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจ หรือบางหลักสูตร ระบุว่าต้องพักโรงแรม ซึ่งครูในพื้นที่ก็สะท้อนกลับมาว่าจัดอบรมในพื้นที่ทำไมต้องพักโรงแรม ทำให้เขารู้สึกว่าเหมือนถูกบังคับให้ต้องพักโรงแรม อย่างนี้ต้องต่อรองกันเพื่อเป็นความยุติธรรม
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐออนไลน์ 5 มิถุนายน 2561