เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณี ที่มีข่าวว่าหลักสูตรของหน่วยพัฒนาครูในโครงการคูปองพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ รายหัวละ 10,000 บาท ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านการรับรองจาก สพฐ. 785 หลักสูตร เปิดให้ครูเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อช็อปปิ้ง แต่เมื่อถึงเวลาหลักสูตรกลับหายไปหลายหลักสูตร ส่งผลให้ครูที่จองหลักสูตรไว้เดือดร้อน ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเกิดจากสพฐ.ดึงหลักสูตรกลับไปพิจารณาอีกรอบพร้อมยกเลิกการจอง เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบรองรับว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งตนจะลงไปตรวจสอบว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะมีการโจมตีกันมาโดยตลอด ซึ่งเท่าที่ดูผู้ที่ออกมาโจมที เป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่หลักสูตรไม่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้มีการของบประมาณเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บริหารจัดการงบเองทั้งหมด เพื่อลดอำนาจจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
“คนที่ออกมาโจมตีเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง อยากให้ครูที่เห็นประโยชน์จากโครงการนี้กว่า 3 แสนคนออกมาพูด ออกมาเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ด้วย ว่าของดีเป็นอย่างไร แต่ถ้าต้องการให้เป็นแบเดิม ผมก็จะให้เป็นแบบเดิม ถ้าโครงการนี้ไม่ดีจริงผมก็พร้อมจะยกเลิก ผมไม่ยึดติด ส่วนที่ร้องว่า เพราะศธ.ไม่จัดงบ ก็ไม่ใช่ เรื่องนี้เป็นการบริหารงบของสพฐ. ไม่มีการจัดงบเพิ่ม งบที่ทำเรื่องนี้ไม่มีมาตั้งแต่แรก และไม่ใช่ว่าทุกคอร์สจะทำอะไรได้ตามใจชอบ ทุกอย่างต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อความยุติธรรม แต่ละคอร์สการอบรมจะต้องรวมค่าเดินทาง ไว้ด้วย “นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ผู้สื่อถามว่า ผู้เสนอหลักสูตรบางราย มองว่า หลักสูตรรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนาแล้ว แต่กลับไม่สามารถเปิดอบรมได้ เหมือนเป็นการกลับลำ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ไม่ได้กลับลำ สถาบันคุรุพัฒนามีหน้าที่ดูแลด้านวิชาการ ให้การรับรองว่าหลักสูตรที่เสนอมาเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน แต่สพค.ของสพฐ. เป็นคนจ่ายเงิน มีหน้าที่ควบคุม และบอกว่า จะเอาหรือไม่เอาหลักสูตรไหน ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่า ทุกหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาอนุมัติแล้ว สพค.จะต้องให้ผ่านทั้งหมด อย่างเช่น หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนา ให้การรับรองแล้ว แต่สพค.บอกว่าแพงไป ยังไม่ซื้อ ก็สามารถทำได้ ตรงนี้ถือเป็นความยุติธรรม เพราะสพค.เป็นคนจ่ายเงิน จึงมีอำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจ อย่างเช่น บางหลักสูตร ระบุว่า ต้องพักโรงแรม ซึ่งครูในพื้นที่ก็สะท้อนกลับมาว่า จัดอบรมในพื้นที่ทำไมต้องพักโรงแรม ทำให้เขารู้สึกว่า เหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องพักโรงแรม อย่างนี้ต้องต่อรองกันเป็นความยุติธรรม
ถามว่า ถ้าครูเลือกหลักสูตรที่อบรมแล้ว สพค.มาตัดออก จะเสียสิทธิหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ครูไม่ได้เลือกอบรมแค่หลักสูตรเดียว ตอนนี้ครูเลือกไปแล้วกว่า 2 แสนกว่าที่นั่ง และจะมีรอบการอบรม และครูคนหนึ่งก็เลือกหลายที่ เรื่องนี้มีการบริหารจัดการ ดังนั้นต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่า พอไม่ได้ดังใจก็ออกมาโจมตีว่าไม่ดี
ด้านดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า การที่ให้ครูบุ๊กกิ้งจองหลักสูตรก็เพื่อวางแผนการประหยัดงบประมาณ ตามที่มีข้อทักท้วงจากนักวิชาการที่ติงว่าปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการเดินทาง จึงต้องการทราบยอดล่วงหน้าและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยพัฒนาครู โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้รวบรวมและประสานหน่วยพัฒนา กำหนดสถานที่และวันอบรม แต่เกิดปัญหาว่าบางหน่วยพัฒนาไม่ได้รับการประสานจากเขตพื้นที่ฯ เพราะยอดบุ๊กกิ้งกระจาย หน่วยพัฒนาจึงขอเปิดโดยกำหนดจังหวัดเอง สถาบันคุรุพัฒนาจึงพิจารณาใหม่ บางรุ่นจึงไม่ผ่านแต่ตรงนี้เป็นอำนาจของสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาถึงความเหมาะสมในทุกๆด้าน
และล่าสุดจากการปิดยอดช้อปปิ้งหลักสูตรรอบแรกวันที่ 28 พ.ค.-3 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีหลักสูตรที่ครูช้อปปิ้งและเปิดรุ่นได้ 451 หลักสูตร จำนวน 2,455 รุ่น จำนวน 286,019 ที่นั่ง จะเริ่มอบรมรอบแรก 30 มิ.ย.-16 ก.ย.ส่วนที่หายไป344 หลักสูตรยังไม่สามารถเปิดรุ่นได้เพราะไม่เป็นตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ยังมีที่นั่งเหลืออีกประมาณ 10% หรือ 28,461 ที่นั่ง ที่จะเปิดให้ช้อปปิ้งรอบสอง วันที่ 15-22 มิ.ย.นี้ และยังมีหลักสูตรเพิ่มเติมอีก 733 หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง และหน่วยพัฒนาขอเปิดรุ่นโดยจะเริ่มอบรมได้ตั้งแต่ 21 ก.ค.-16 ก.ย.2561 ทั้งนี้ ประมาณการใช้งบประมาณปี 2561 จำนวน 1,400 ล้านบาท
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก FOCUS NEWS วันที่ 5 มิถุนายน 2561