ที่ปรึกษา รมว.ศธ.สรุปผลลงพื้นที่ภาคอีสานพบทุจริตเขตพื้นที่เรียกเงินทอนจากโรงเรียน และตั้งฎีกาเบิกงบซ้ำซ้อน รวมถึงจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษามีการสอดไส้รายชื่อโรงเรียนเพียบ จ่อ ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยฯ
วันนี้ (30 พ.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการเดินหน้าตรวจสอบทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตามที่ตนได้มอบหมายให้ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศธ.ลงพื้นที่ 11 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริตต่างๆในพื้นที่ ซึ่ง พล.ท.โกศล ได้สรุปรายงานของการลงพื้นที่ดังกล่าวมาให้ตนรับทราบแล้ว ซึ่งพบโครงการทุจริตต่างๆของเขตพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งบางเคสมีความผิดชัดเจนไม่จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว โดยจะมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยทันที ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาทุจริตของศธ.หลายฝ่ายมาร้องเรียนกับทีมงานตน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทีมของตนมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างแท้จริง ดังนั้นจะต้องมองกลับไปว่าฝ่ายข้าราชการประจำและระบบตรวจสอบของ สพฐ.เองมีปัญหาหรือไม่ และตนยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการสืบสวนทีมตนใช้เวลาไม่นาน แต่เรื่องทุกอย่างกลับไปติดกระบวนการที่ สพฐ.ดังนั้นจะต้องได้รับการแก้ไขและมีจะต้องมีผู้รับผิดชอบ
“กรณีทุจริตในภาคอีสานอย่างกรณีขอให้ตรวจสอบเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดยโสธร เนื่องจากมีการจัดซื้อครุภัณฑ์ทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น ชุด อุตสาหกรรม ในงบประมาณ 600,000 บาทต่อโรงเรียนว่ามีล็อคสเปคนั้น เรื่องนี้ถือไม่เป็นไปตามนโยบายของผม เพราะการดำเนินการแบบนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นเป็นลักษณะเหมือนเงินท็อปดาวน์ ซึ่งครุภัณฑ์ซื้ออุปกรณ์พัฒนาทักษะพิเศษเท่านั้นไม่ใช่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีโรงเรียนหลายแห่งไม่ต้องการ และผมมีคำถามว่าชุดพัฒนาทักษะมีเฉพาะแค่ในกลุ่มภาคอีสานเพียงอย่างเดียว และในพื้นที่ภาคใต้หรือภาคอื่นๆไม่ต้องการด้วยใช่หรือไม่ ดังนั้นเรื่องนี้ สพฐ.ต้องมีการตรวจสอบโดยเร็ว เพราะข้อมูลชัดเจนแล้วว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้น อย่ามาอ้างว่ากลัวงบประมาณจะตก ถ้างบจะตกก็ให้มันตกไป คนที่ทำให้ตกก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าไปสำรวจแล้วชุดพัฒนาทักษะดังกล่าวมีความจำเป็นจริงๆผมจะทำเรื่องเสนองบสำนักงบฯให้” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ด้าน พล.ท.โกศล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ภาคอีสานเราพบประเด็นสำคัญ คือ มีเจ้าหน้าที่พัสดุในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) นครราชสีมา เขต 5 วางฎีกาเบิกเงินซ้ำซ้อนกับเงินของโรงเรียน โดยโรงเรียนแรกโดนไป 80,000 บาท และอีกโรงเรียนโดนไป 300,000 บาท ซึ่งมีการใช้ข้อมูลร้านค้าที่โรงเรียนวางฎีกาเบิกเงินด้วยการเปลี่ยนชื่อร้าน ซึ่งร้านที่โรงเรียนใช้อยู่ที่จ.นครราชสีมา แต่ร้านถูกเปลี่ยนในระบบอยู่ที่จ.สมุทรสาคร เหมือนกันทั้งสองโรงเรียน นอกจากนี้ยังพบมีการทำฎีกาลอยเบิกงบประมาณ 57 รายการทิ้งไว้ที่เขตพื้นที่ด้วย เมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณจะมีงบเหลือจ่ายกลุ่มคนเหล่านี้จะใช้ฎีกาลอยที่ตั้งไว้เบิกเงินของโรงเรียนซ้ำเป็นประจำ ซึ่งเรื่องนี้มีการร้องเรียนจากผอ.โรงเรียนและตนบันทึกปากคำไว้หมดแล้ว จึงถือว่ามีพยานหลักฐานและความผิดชัดเจน และการลงพื้นที่ของตนถือว่าเป็นการสืบข้อเท็จจริงแล้ว โดยจะสรุปและเสนอตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงทันที เพราะตนเห็นว่าเขตพื้นที่มีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว แต่เมื่อดูสำนวนกลับไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ตนได้รับ ซึ่งในสำนวนสรุปให้เจ้าหน้าที่พัสดุโดนภาคทัณฑ์และขอให้ยุติเรื่องนี้ โดยเรื่องนี้มีมูลเหตุมากกว่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่พัสดุจะทำเองคนเดียวไม่ได้ เนื่องจากการเบิกจ่ายจะต้องมีรหัส e-GP คือระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเลคทรอนิกส์ และรหัสดังกล่าวมีเพียงหัวหน้าแผนกบัญชี กับ ผอ.เขตพื้นที่ เท่านั้น
ที่ปรึกษา รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมของผู้บริหารเขตพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์มีการเรียกเปอร์เซนต์จากผู้อำนวยการโรงเรียนที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ 10% โรงเรียนต้องจ่ายก่อน 5% เมื่อได้รับงบแล้วต้องจ่ายอีก 5% ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ต้องยอม เพราะถ้าไม่ให้โรงเรียนก็จะไม่ได้รับงบประมาณในปีนั้น ซึ่งการดำเนินการแบบนี้ทำเป็นเครือข่าย แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ มีการตกเขียวเงินงบประมาณ โรงเรียนใดอยากได้งบประมาณก็ต้องเอาเปอร์เซ็นต์มาก่อนปี 62 เรื่องนี้เรามีหลักฐานชัดเจน คงต้องเร่งให้ สพฐ.ดำเนินการตรวจสอบต่อไป ขณะเดียวกันยังพบอีกว่าเมื่อเดือนมี.ค.มีคนมาร้องเรียนกับคณะทำงานของตนว่า ขอให้ตรวจสอบเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดยโสธร เนื่องจากมีการจัดซื้อครุภัณฑ์ทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น ชุด อุตสาหกรรม ในงบประมาณ 600,000 บาทต่อโรงเรียนว่ามีการล็อคสเปค ดังนั้นในการลงพื้นที่ของตนเมื่อเร็วๆนี้จึงไปหาข้อมูลพบว่า งบประมาณดังกล่าวแจ้งเป็นการจัดสรรงบประมาณครุภัณฑ์การศึกษาปี 61 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.60 มีโรงเรียนได้รับการจัดสรรรวม 458 โรง งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 279 ล้านบาท แต่ภายหลังเมื่ออนุมัติงบฯพบว่า เพิ่มโรงเรียนการขอจัดสรรมาเป็น 600 โรง ซึ่งไม่ตรงกับตัวเลขโรงเรียนที่จัดสรรไป อีกทั้งยังพบว่าโรงเรียนไม่ได้ต้องการครุภัณฑ์ดังกล่าวแต่มีการจัดสรรมาให้เอง และโรงเรียนบางแห่งเสนอครุภัณฑ์มาให้แต่ไม่ตรงกับที่เสนอ และในกรณีนี้มีบริษัทเข้ามาจัดซื้อจัดจ้างแต่ขั้นตอนการจัดสรรงบกลับเปลี่ยนรายการจึงต้องจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ซึ่งงบดังกล่าวจะต้องใช้ให้เสร็จภายในวันที่ 31 พ.ค.61 นี้ ซึ่ง สพฐ.จะต้องไปเร่งพิจารณาว่าจะเดินหน้าต่อหรือหยุด เพราะการดำเนินการแบบนี้เหมือนลักษณะแบบท็อปดาวน์ลงไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2561