สกศ.เปิดรายงานจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขัน IMD เผยเหตุประเทศไทยตกอันดับ
ตามที่สถาบัน IMD World Competitiveness Center ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2018 ซึ่งเป็นการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ 63 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยมีอันดับที่ตกลงจากอันดับที่ 27 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 30 ในปี 2561และในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการศึกษา ตกลงจากอันดับที่ 54 เป็นอันดับที่ 56 จากทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก นั้น ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า จากรายงานสมรรถนะการศึกษาไทยของ IMD ปีนี้ พบว่า ลดลง 2 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2560 เมื่อพิจารณาตามกรอบการประเมินของ IMD ซึ่งมี 18 ตัวชี้วัด พบว่า มีตัวชี้วัดที่ไทยมีอันดับสูงขึ้น 4 ตัวชี้วัด อันดับที่ลดลง 6 ตัวชี้วัด และอันดับที่คงเดิม 8 ตัวชี้วัด
เลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า อันดับสูงขึ้น 4 ตัวชี้วัด คือ การสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน งบประมาณด้านการศึกษาต่อประชากร ทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และอัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คน ที่สอนระดับมัธยมศึกษา อันดับที่ลดลง 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ อัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คน ที่สอนระดับประถมศึกษา ผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา งบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDPความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ (TOEFL ) และอัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนอันดับที่คงเดิม 8 ตัวชี้วัด คือ การตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของการอุดมศึกษา การบริหารจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ งบประมาณด้านการศึกษาต่อนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ร้อยละของผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับอุดมศึกษาในประเทศ ต่อประชากร 1,000 คน จำนวนนักศึกษาที่ไปศึกษาอุดมศึกษาต่างชาติต่อประชากร 1,000 คน ผลการสอบพิซา และระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
" ါเมื่อดู 6ตัวชี้วัดที่ได้อันดับลดลง มีข้อสังเกตว่าบางตัวชี้วัดได้คะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นและได้ค่าเฉลี่ยสูงกว่าของ IMD เช่น เรื่องอัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับประถมศึกษา แต่ที่ได้อันดับลดลง อาจสืบเนื่องมาจากประเทศอื่นๆก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ในรายงานด้านการศึกษามีจุดเด่น คือ เรื่องที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อการศึกษา และมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ดีกว่าหลายๆประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ มีความเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ส่วนปมด้อยสำคัญอยู่ที่กลุ่มชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ และกลุ่มอุดมศึกษาที่คุณภาพต่ำ แต่ไม่ใช่จุดเด่นหรือปมด้อยที่ถาวร ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง สกศ.จะวิเคระห์ผลเสนอ ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ โดยเปรียบเทียบย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าแต่ละตัวชี้วัดก็มีขึ้นมีลง แต่เป็นไปในทิศทางที่ค่อยๆดีขึ้น" ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561