ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัวคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน“เวทีประชาคม พื้นที่จังหวัดพัทลุง”ภายใต้โครงการการพัฒนาองค์กรเยาวชนสุขภาวะสู่แหล่งเรียนรู้ระดับตำบลภาคใต้ จากการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ณ กลุ่มเยาวชน อบต.พนมวังก์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และกลุ่มเยาวชน เทศบาลตำบลชุมพล อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัวกล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ 6 เรื่อง ดังนี้ 1)สังเคราะห์และรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว 2)สร้างระบบเครือข่ายประสานงานวิชาการครอบคลุม 6 ภูมิภาคและพัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ 3)เพื่อให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อองค์กรภาคี 4)เพื่อสนับสนุนการผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศได้ด้วยระบบเครือข่ายและระบบพี่เลี้ยง 5)สนับสนุนให้เกิดพื้นที่กลาง เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นประเด็นวิพากษ์สำคัญ ตลอดจนสร้างโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรวิชาการ องค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ 6)กระตุ้นหนุนเสริมการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสุขภาวะของเด็ก เยาวชนและครอบครัว นำไปสู่การยกระดับความคิดของประชาชน สื่อมวลชน กระทรวง กรมและอื่นๆ ได้ จนเป็นพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มเยาวชน อบต.พนมวังก์และกลุ่มเยาวชน เทศบาลตำบลชุมพล ซึ่งจัดเวทีประชาคม พื้นที่จังหวัดพัทลุง พบว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของโครงการฯ ได้ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการพัฒนาศักยภาพแกนนำเด็กและเยาวชนให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งกลุ่มเยาวชนทั้ง 2 กลุ่ม ได้ใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยการ สำรวจข้อมูล ใช้การมีส่วนร่วมตัดสินใจของคนในชุมชน และสามารถนำข้อมูลจากการตัดสินใจมาผลักดันไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และการมีนโยบายที่ดีสู่ชุมชนที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงดังนั้น น้องๆ ทำงานได้ครบวงจรสามารถขึ้นโครงการ สร้างเครื่องมือ จนเกิดผลงานที่ดี สามารถสร้างให้ชุมชนเป็นประชาคมต้นแบบเรื่องสุขภาพและเป็นแหล่งเรียนรู้
“องค์กรที่จะเป็นคานงัดสำคัญในเรื่องการทำงานด้านเด็กและเยาวชนคือ อปท. จากการประชุมกับคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน มีความเห็นตรงกันว่า อปท.จะเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุด เพราะจะเป็นคานงัดเรื่องเด็กและเยาวชน เนื่องจากเด็กและเยาวชนในชุมชนคือความหวังสำคัญต่ออนาคตของประเทศ โดยนโยบายสำคัญของประเทศต่อไปจากนี้จะเริ่มจากข้างล่าง เพราะขณะนี้ เรามี พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560โดยมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกระดับมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม ดังนั้น สภาเด็กและเยาวชนในระดับตำบล จำนวน7,775 แห่ง จึงถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไป” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ผศ.ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การจัดเวทีประชาคมพื้นที่จังหวัดพัทลุงถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำเรื่องสุขภาพและเป็นครั้งแรกที่ทำโดยเด็กและ เยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนซึ่งให้เด็กและเยาวชนทำโครงการโดยลงไปสำรวจและเก็บข้อมูลจากชุมชน เพื่อทราบปัญหาเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน เช่น วัดความดันโลหิต รอบเอว ชั่งน้ำหนัก พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ คัดกรองภาวะซึมเศร้า เพราะเด็กต้องการให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วย จึงตั้งใจแก้ไขปัญหาในชุมชนให้ได้มากที่สุด ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะนำเข้าสู่เวทีประชาคม เพื่อให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของและหลังจากนี้ประมาณ 1 ปี กลุ่มองค์กรเยาวชนจะดำเนินโครงการเพื่อให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น