กรุงเทพธุรกิจ รมช.ศึกษาธิการห่วง รวมหน่วยงานวิจัยเข้าร่วม ก.การอุดมศึกษา ส่งผลจัดตั้ง ก.การอุดมศึกษาล่าช้า แจงถ้าปรับร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เพื่อรวมการวิจัยและนวัตกรรม ต้องมีการศึกษาว่าจะต้องดำเนินการทำประชาพิจารณ์ใหม่ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา อยู่ในขั้นตอนเสนอให้ ครม.พิจารณาแล้ว
วานนี้ (17 พ.ค.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่าจากกรณีการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงที่จะนำกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) มารวม กับสำนักงานอุดมศึกษา (สกอ.) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัยว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการหารือมาระยะหนึ่งแล้ว อีกทั้งขณะนี้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยของประเทศไทยก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในการจัดตั้งสำนักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ทั้งนี้ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา พ.ศ... จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เสนอให้นำเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมมาใส่ในกระทรวงการอุดมศึกษา เพราะ 70-80% ของงานวิจัยและนวัตกรรมเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย จึงมีความต้องการให้กระทรวงการอุดมศึกษาที่จะเกิดขึ้นใหม่เข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้
"โดยหลักการไม่ได้มีความขัดแย้งในกรณีดังกล่าว เพราะจากหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่งานวิจัยและนวัตกรรมที่เหลืออีกประมาณ 30% จะอยู่ในกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งคงต้องมีการหารือกับหน่วยงานเหล่านี้ให้ชัดเจน ซึ่งสิ่งที่กังวลคือ ขั้นตอนการสร้างความเข้าใจอาจจะทำให้การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษามีความล่าช้า จากโรดแม็พที่ต้องการเกิดให้ได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงทิศทางการผลิตกำลังคนและพัฒนาคุณภาพคน ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้วย รวมถึงจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยควบคู่กับงบประมาณด้านการผลิตกำลังคน" รมช.ศธ.กล่าว
นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีที่ดูแลในเรื่องนี้ รวมถึงนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.) ด้วย และมีความเห็นว่าหากการรวมการวิจัยและนวัตกรรมเข้ากับกระทรวงการอุดมศึกษาสามารถทำได้ทันก่อนจะมีการเลือกตั้ง คือภายในระยะเวลา 8 เดือน รมว.วท.พร้อมสนับสนุน เต็มที่ แต่หากไม่ทันก็ขอให้ผลักดันการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไปก่อน จากนั้นจึงเพิ่มในส่วนของการวิจัยและนวัตกรรมภายหลัง
ทั้งนี้ หากมีการปรับร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เพื่อรวมการวิจัยและนวัตกรรมร่วมด้วย อาจต้องมีการศึกษาว่าจะต้องดำเนินการทำประชาพิจารณ์ใหม่หรือไม่ เพราะแต่ละคนก็มองไม่เหมือนกัน ซึ่งคงต้องให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา อยู่ในขั้นตอนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ซึ่งหาก ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าควรจะปรับแก้ในส่วนใดก็ถือเป็นอำนาจที่สามารถดำเนินการได้
ขอบคุณที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ