ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธาน ก.ค.ศ. เป็นประธานการประชุม
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 2 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 และตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 14 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558
และได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบแข่งขัน
1) ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 25472)
2) ต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ไม่หลังวันเปิดรับสมัครสอบแข่งขันวันสุดท้าย
ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบแข่งขันต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน อยู่ก่อนหรือไม่หลังวันเปิดรับสมัครสอบแข่งขันวันสุดท้าย และในวันบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ต้องยังไม่หมดอายุ
ยกเว้นผู้สมัครสอบแข่งขันที่มีคุณวุฒิในประเภทวิชาหรือสาขาวิชาขาดแคลน ตามที่ส่วนราชการกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ. ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน อยู่ก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย และในวันบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอนต้องยังไม่หมดอายุ
สำหรับผู้สมัครสอบแข่งขันซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาข้าราชการอื่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ต้องมีหนังสืออนุญาตจากผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งให้สมัครสอบแข่งขัน และยินยอมให้ย้ายหรือโอนเมื่อสอบแข่งขันได้ และให้บรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งครูผู้ช่วย และรับเงินเดือนในอันดับครูผู้ช่วยตามที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน
ทั้งนี้ ในวันสมัครสอบแข่งขัน ผู้สมัครสอบต้องรับรองตนเองด้วยว่าในวันบรรจุและแต่งตั้ง ไม่ติดเงื่อนไขอื่นใดที่หน่วยงานหรือส่วนราชการที่ตนสังกัดอยู่เดิม กำหนด
ส่วนครู สพฐ. ที่ต้องการมาสมัครสอบเพื่อวัตถุประสงค์ในการขอย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม ทำไม่ได้อยู่แล้ว
หลักสูตรการสอบ แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ
ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมและอุดมการณ์ของความเป็นครู และมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา (คะแนนเต็ม 150 คะแนน)
ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 150 คะแนน)
ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ (คะแนนเต็ม 50 คะแนน)
ให้ส่วนราชการ ดำเนินการดังนี้
1) กำหนดสัดส่วนตำแหน่งว่างเพื่อใช้ในการสอบแข่งขันและการคัดเลือก
2) กำหนดวัน เวลา ในการสอบแข่งขัน ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดรับสมัครภายในเดือนมิถุนายน 2561 สอบในเดือนกรกฎาคม 2561 และบรรจุแต่งตั้งในเดือนตุลาคม 2561 เพื่อมิให้กระทบกับอัตรากำลังของครูในสถานศึกษาเอกชน
3) กำหนดระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน 2 ปี
4) บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบภาค ก ภาค ข และกำหนดตัวชี้วัดและคะแนนการประเมินภาค ค ตามหลักสูตรที่กำหนด
5) กำกับติดตามการดำเนินการสอบแข่งขัน ให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด
ให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี ดำเนินการดังนี้
1) กำหนดจำนวนตำแหน่งว่าง และวิชาหรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ใช้ในการสอบแข่งขัน ตามความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา
2) ประกาศสอบแข่งขันก่อนวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 7 วัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
3) รับสมัครสอบแข่งขันไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ พร้อมค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ จำนวน 300 บาท
4) กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร คุณสมบัติ และคุณวุฒิของผู้สมัครสอบแข่งขันฯ
5) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบแข่งขัน วัน เวลา และสถานที่สอบ รวมทั้งระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติของผู้เข้าสอบ และระเบียบอื่น ๆ เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน
6) ดำเนินการสอบภาค ก และภาค ข
7) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้คะแนนภาค ก และภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ที่มีสิทธิ์สอบภาค ค โดยเรียบลำดับตามเลขประจำตัวสอบ
8) ดำเนินการสอบภาค ค
9) ประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนตามเกณฑ์การตัดสิน
เกณฑ์การตัดสิน ผู้สอบแข่งขันต้องได้คะแนนภาค ก และภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะมีสิทธิ์สอบภาค ค ประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยเรียงลำดับจากผู้ที่ได้คะแนนรวมจากมากไปหาน้อย แยกตามกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก
การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ กำหนดกรอบระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยให้ส่วนราชการประกาศก่อนการบรรจุและแต่งตั้งในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อมิให้กระทบกับการบริหารอัตรากำลังครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ในการเปิดสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี พ.ศ.2561 จะมีการเปิดสอบใน 74 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวมทั้งสิ้น 98 กลุ่มวิชา (โดยจังหวัดที่ไม่ประสงค์เปิดสอบได้แก่ จังหวัดพะเยา อำนาจเจริญ และสงขลา)
สำหรับสาขาวิชาที่ขาดแคลนและมีความจำเป็น สพฐ.ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ต่าง ๆ แล้ว พร้อมทั้งจัดประชุมสัมมนาร่วมกับประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้แทนจากคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า สาขาวิชาขาดแคลน หมายถึง 1) เปิดสอบแล้วไม่มีผู้สมัคร 2) เปิดสอบแล้วมีสมัครน้อย 3) สถาบันอุดมศึกษาไม่เปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี หรือเปิดสอนแต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปี ดังนี้
1. กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ไม่เปิดสอนในหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 5 ปี หรือเปิดสอนแต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญา 5 ปี จำนวน 32 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาเกาหลี ภาษาพม่า ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การพยาบาล ดนตรีพื้นเมือง ออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมศิลป์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรม (ก่อสร้าง) อุตสาหกรรมศิลป์ (ช่างยนต์) อุตสาหกรรมไฟฟ้า ช่างโลหะ การจัดการงานก่อสร้าง โสตทัศนศึกษา การเงินและบัญชี การเงินและการบัญชี การเงิน/บัญชี การเงินบัญชี การเงินการบัญชี ธุรกิจการเงินการบัญชี ธุรกิจ (การเงิน) ธุรกิจ (พัสดุ) พัสดุ กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก
2. กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นต่อการจัดการเรียนการสอน จำนวน 10 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน ดนตรี ดนตรีศึกษา ดนตรีไทย ดนตรีสากล ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ ซึ่งมีความขาดแคลนซ้ำซาก เปิดสอบแล้วไม่มีคนมาสอบ หรือเปิดสอบแล้วไม่มีผู้สอบได้ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายจังหวัด ไม่ใช่เป็นความขาดแคลนภาพรวม
Written by เอมพร น้อยจินดา, ดรุวรรณ บุญมาก (ก.ค.ศ.)
Photo ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี (สร.)
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร (สป.)
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ