ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ข่าวที่ 133/2561
คณะกรรมการสภาการศึกษาอนุมัติเพิ่ม สพม. 36 แห่งให้ครบทุกจังหวัด
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "นพ.อุดม คชินทร" เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา นัดที่ 2 เปิดตัว 'ณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด' ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ รับรองร่างมาตรฐานการศึกษาชาติ และอนุมัติ 78 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาครบทุกจังหวัด
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ 2/2561 โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) พร้อมผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ.
ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้ง กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ คือ นายณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งแทน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ลาออกไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ มีการพิจารณาวาระสำคัญ อาทิ
- เห็นชอบรับรองร่างมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ที่ระบุว่า การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ 1) บุคคลผู้เรียนรู้ 2) ผู้ร่วมสร้างสรรค์สังคม 3) ผู้มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานครู 4.0 ลดภาระครูในการประเมินวิทยฐานะเพื่อสร้างลักษณะคนไทยที่พึงประสงค์ในอนาคต นำไปใช้เป็นกรอบการจัดการศึกษา การวัดผลและประเมินผลทั้งตัวครูและผู้เรียนบูรณาการกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และแนวทางจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสรุปวาระที่ กกส.ได้ให้ความเห็นชอบรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า หาก ครม. เห็นชอบร่างมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติแล้ว สกศ.พร้อมขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติลงไปสู่การปฏิบัติทุกระดับและทุกประเภทการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานแต่ละสถานศึกษา รวมถึงการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะและคุณภาพผู้เรียนตามแนวทางรัฐธรรมนูญฯ และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579
- เห็นชอบการจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพิ่มเติมจำนวน 36 เขต จากที่มีอยู่เดิม 42 เขต โดยยึดเขตปกครองจังหวัดเป็นพื้นฐาน จึงมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาครบทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 78 เขต กำหนดให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มี 2 เขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในสังกัดมากกว่า 250,000 คน ที่ไม่ซ้ำซ้อนอำนาจหน้าที่กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอใช้วิธีการเกลี่ยกรอบอัตราทรัพยากรทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์ อาคารที่ดินสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งบุคลากรเดิมที่มีอยู่ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามภารกิจและปริมาณงานที่เหมาะสม โดย กกส. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ให้ข้อเสนอแนะและตั้งข้อสังเกตเรื่องอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งต้องไม่เพิ่มอัตราบุคลากรและเพิ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลกัน เพื่อลดความสิ้นเปลืองงบประมาณสำหรับการจัดตั้งสำนักงานเขตพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ สพฐ. รายงานผลการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาและคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนให้ กกส. พิจารณาเป็นระยะ
- เห็นชอบแนวทางอุดหนุนเงินค่าใช้จ่ายรายหัวแก่ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจัดโดยบุคคล องค์กรวิชาชีพ องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน และลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีแก่ผู้จัดการศึกษา ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวคือ ระดับปฐมวัย ได้รับเงินอุดหนุน 7,192 บาท ระดับประถมศึกษา ได้รับเงินอุดหนุน 7,362 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้รับเงินอุดหนุน 10,276 บาท และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับเงินอุดหนุน 10,606 บาท และได้รับการลดหย่อนและยกเว้นภาษีแนวทางเดียวกับที่รัฐให้การสนับสนุนการศึกษาเอกชน ทั้งนี้ กกส. ให้ข้อเสนอแนะผู้แทน สพฐ. ควรศึกษาแนวทางการใช้วงเงินอุดหนุน ประมาณการวงเงินโดยรวมที่ชัดเจน และมีกระบวนการตรวจสอบการใช้เงินที่เข้มงวดและสกัดกั้นการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ
- เห็นชอบร่างกฎกระทรวง กำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการอาชีวศึกษา พ.ศ. .... มีสาระสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ (บอร์ด) อาชีวศึกษาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งกำหนดองค์ประกอบบอร์ดอาชีวศึกษามีจำนวนไม่เกิน ๓๒ คน แบ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 7 คน (ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ) กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชน จำนวน 3 คน กรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพ จำนวน 1 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่า 17 คน แต่ไม่เกิน 19 คน ซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเลือกประธานบอร์ดฯ จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการบอร์ดฯ โดย กกส. เสนอแนะให้เชิญปลัดกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงการรองรับวิชาชีพด้านอุตสาหกรรม และศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการประชุม กกส.นั้น สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) นำโดย ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมฯ พร้อมมวลชน 300 คน ตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เดินทางมาชุมนุมแสดงพลังและให้กำลังใจ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร และ กกส. พิจารณาเรื่องเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด
ขอบคุณเนื้อหาจาก ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์
Photo Credit สกศ.
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ