สพฐ.เปิดช่องโรงเรียนรับเด็กในพื้นที่บริการได้ไม่จำกัด ปลดล็อค รับ ม.1เกิน 40 คนต่อห้อง เผยเด็กไม่มีที่เรียนมีสิทธิได้เรียนโรงเรียนดัง
วันนี้ (10 พ.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ปกครองนักเรียน เข้าร้องเรียนต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการกำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียนขั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2561 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 40 คนต่อห้อง ทำให้มีเด็กในพื้นที่บริการของโรงเรียนบางส่วน ไม่มีโอกาสในการเข้าเรียนต่อนั้น เมื่อเร็วๆนี้ ตนเสนอให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณา แนวทาง แก้ไขปัญหา การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการที่ยังไม่มีที่เรียน และนักเรียนที่มีที่เรียนแล้ว แต่ต้องเดินทางไปเรียนนอกเขตพื้นที่ซึ่งไกลเดินทางลำบาก ซึ่ง กพฐ. เห็นชอบให้คณะกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณายืดหยุ่นจำนวนนักเรียนต่อห้อง และจำนวนห้องเรียน ได้ตามความเหมาะสม และตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงคุณภาพของนักเรียน และดูว่าประชาชนเดือนร้อนในเรื่องใด ที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนครั้งนี้ ทั้งนี้ สพฐ. จะมีหนังสือแจ้งแนวทางดังกล่าว ไปยัง กศจ. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศ เพื่อแจ้งไปยังโรงเรียนในพื้นที่ให้ ได้รับทราบแนวทางดังกล่าว ภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้
“การยืดหยุ่นครั้งนี้ถือเป็นการดูแลสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย โดยให้โรงเรียนพิจารณารับเด็กในเขตพื้นที่บริการของตนเองที่ยังไม่มีที่เรียน หรือ เด็กในพื้นที่บริการที่มีที่เรียนแล้ว แต่ต้องเดินทางไปด้วยความยากลำบากเข้าเรียน ทั้งนี้ ผู้ปกครองนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ขอให้มาแจ้งความประสงค์ได้ที่โรงเรียนในพื้นที่ จากนั้นโรงเรียนจะพิจารณา เสนอ กศจ.เห็นชอบตามขั้นตอน เชื่อว่าเด็กจะไม่แห่ไปเข้าโรงเรียนดังในพื้นที่แน่นอน เพราะบางเขตพื้นที่อาจจะมีโรงเรียน 3 แห่ง หากเด็กในพื้นที่บริการประสงค์จะย้ายมาเฉพาะโรงเรียนดัง โรงเรียนก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการสถานศึกษา และ กศจ.จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป การยืดหยุ่นครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเปิดช่องให้ใคร เพราะถ้า สพฐ. ดึงดัน ไม่ยืดหยุ่น เด็กก็ไม่มีที่เรียน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ก็ไม่มีประโยชน์” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
ต่อข้อถามว่า กำหนดจำนวนรับนักเรียนต่อห้องไว้หรือไม่ว่าไม่ควรเกินเท่าไร ดร.บุญรักษ์ กล่าวว่า ไม่ได้กำหนด แต่ให้อยู่ในดุลยพินิจของโรงเรียน โดยให้คำนึงถึงคุณภาพ ซึ่งสพฐ. ไม่สามารถบอกได้ว่า จำนวนที่เหมาะสมต่อห้องจะอยู่ที่เท่าไร เช่น เขตสายไหม มีเด็กเกิน กว่าที่โรงเรียนรับได้จำนวนมาก ทั้งนี้ หลังจากผู้ปกครองได้แจ้งความประสงค์มายังโรงเรียน และโรงเรียนได้พิจารณารับตามความเหมาะสมแล้ว และตัวเลขการรับนักเรียนที่ต้องแจ้งภายในวันที่ 10 มิถุนายนนิ่งแล้ว โรงเรียนใดมีนักเรียนมากเกินไป ก็จะต้องมาพิจารณาอัตราครูใหม่ รวมถึงขยายห้องเรียนให้มีความเหมาะสมกับจำนวนนักเรียนต่อห้อง การยืดหยุ่นดังกล่าวไม่ได้ให้โรงเรียนพิจารณาตามศักยภาพตัวต้อง ว่าสามารถรับนักเรียนได้เท่าไร แต่ดูตามข้อกฎหมาย ที่ให้เด็กได้มีสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีการประกาศเขตพื้นที่บริการ ดังนั้น ถ้าเด็กในพื้นที่บริการไม่มีที่เรียนก็ต้องรับไว้.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2561