กอปศ.ย้ำปรับโครงสร้างครั้งใหม่ต่างจากเดิมปฎิรูปหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วย เพื่อปฎิรูปการศึกษาราบรื่น ย้ำยังเน้นปฎิรูปโรงเรียนเป็นหลัก
วันนี้( 1 พ.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกอปศ. ว่า ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ของ กอปศ.ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างฯ ซึ่งการปฎิรูปดังกล่าวต้องพัฒนาโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 33,000 กว่าโรง โรงเรียนเอกชนอีก 10,000 กว่าโรง โรงเรียนประชารัฐ 3,000 กว่าโรง และโรงเรียนร่วมพัฒนา 40 กว่าโรง ไปพร้อมกัน ดังนั้นการทดลองการพัฒนาโรงเรียนต้องมีความหลากหลายให้เหมาะสมกับโรงเรียนแต่ละขนาด หรือโรงเรียนห่างไกล แต่มุ่งเน้นการปฎิรูปโรงเรียนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามประชุมได้มีการหารือเรื่องร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. .... แต่ ยังไม่ได้ข้อสรุป
ด้านผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่ า คณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างฯ ไม่ได้ปฎิรูปโครงสร้างเฉพาะภายในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่จะปฎิรูปโครงสร้างที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอื่นๆ ด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการปฎิรูปโครงสร้างหลายครั้ง ซึ่งสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่การปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้ ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อปฎิรูปการศึกษาอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายชัดเจน คือ เด็ก เยาวชน พลเมือง ทุกช่วงวัยเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ กระบวนการเรียนการสอนมีคุณภาพ และครู คณาจารย์ที่มาจัดการเรียนการสอนต้องมีคุณภาพ ดังนั้นการปฎิรูปโครงสร้างจึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวให้บรรลุผล
"ย้ำว่าการปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้ ไม่ได้ปฎิรูปโครงสร้างเหมือนที่ผ่านมา แต่ปฎิรูปเพื่อตอบสนองให้มีพัฒนาการต่อเนื่องดีขึ้นอย่างได้ผล และทำให้การปฎิรูปการศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการปฎิรูปโครงสร้างจากล่างขึ้นบน คือ เริ่มจากปฎิรูปนักเรียน และโรงเรียน โดยยึดสถานศึกษาเป็นศูนย์กลางในการปฎิรูปการศึกษา กระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา และมีดุลยภาพพอเหมาะ มีความกะทัดรัด และมีความทันสมัย รวมถึงมีความเรียบง่าย เพราะที่ผ่านมาโครงสร้างมีความซับซ้อน และซ้ำซ้อน ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยาก และครอบคลุมทุกมิติเรื่องการศึกษา"ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวและว่า ที่ประชุมยังได้มีข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้าง ซึ่งจะมีด้านนโยบาย ด้านการกำกับดูแล และหน่วยปฎิบัติ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าหน่วยงานใดจะกำกับ ดูแล ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงหน่วยปฎิบัติที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ใช้คำว่า สถานศึกษาในกำกับของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคล ที่มีการบริหารด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ บริหารทั่วไป วิชาการ งบประมาณ และการบริหารงานบุคคล โดยโรงเรียนที่จะเข้าร่วมต้องเป็นไปโดยสมัครใจ เฉพาะโรงเรียนที่มีความพร้อม เท่านั้น ส่วนโรงเรียนร่วมพัฒนา และโรงเรียนประชารัฐ ต้องมีการปฎิรูปและทำความเข้าใจกับสาธารณะต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2561