สถานี ก.ค.ศ.
การสอบแข่งขัน ตำแหน่งครูผู้ช่วย
การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ให้บรรจุและแต่งตั้งจากผู้สอบแข่งขันได้ ดังนั้น การเป็นผู้สมัครสอบแข่งขันจึงเป็นขั้นตอนแรกก่อนที่จะไปเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา(ถ้าสอบได้) “ครูผู้ช่วย” หมายถึง ผู้ช่วยครูในการทำหน้าที่สอน หากแต่สถานภาพและหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกับครู เพราะครูผู้ช่วยจะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มเป็นเวลาสองปีก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ครู” (หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า การทดลองปฏิบัติราชการนั่นเอง) ถ้าผลการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มผ่านเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดจึงจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู ตามนัยมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาอย่างเต็มภาคภูมิ และตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 กำหนดคำนิยามว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา” หมายความว่า ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ตามพระราชบัญญัตินี้และ “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งออกให้ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามพระราชบัญญัตินี้
การสอบแข่งขันตำแหน่งครูผู้ช่วย เป็นการดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดถือระบบคุณธรรม ความเสมอภาคระหว่างบุคคล การปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิอย่างเสมอภาคเท่าทียมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ราชการในอันที่จะได้ครูผู้ช่วยที่ดีมีความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงลึกในเนื้อหาวิชาการและเมื่อครูผู้ช่วยที่สอบแข่งขันได้ดังกล่าวนี้ ผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดแล้วเชื่อว่าจะได้ครูที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู และได้ครูที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเชิงลึกในเนื้อหาวิชาการด้วย
ผู้ที่มีสิทธิสมัครสอบแข่งขันต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด (1) มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 (2) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่น ที่ ก.ค.ศ. กำหนด เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่งนั้น (3) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ซึ่งในการสอบครูผู้ช่วยในปีนี้สำหรับประเภทวิชา หรือ สาขาวิชาขาดแคลนจะได้พิจารณาด้วยความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง โดยส่วนราชการ และ ก.ค.ศ. ต้องเห็นชอบก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครสอบแข่งขันทั่วไปมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้สมัครสอบแข่งขันหากเป็นผู้สอบแข่งขันได้และถึงลำดับที่จะบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอนก่อนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่มาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วยกำหนดไว้ และใบอนุญาตหรือหลักฐานดังกล่าวนั้น ต้องยังไม่หมดอายุ
สำหรับการสอบในปี 2561 ก.ค.ศ. ได้มีมติให้ดำเนินการสอบแข่งขันโดยมีสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ได้ใช้เหมือนกับการสอบแข่งขันครั้งที่ 1 ปี 2560 ที่ผ่านมา กรณีจึงมิใช่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ผ่านการสอบ ภาค ก ของ ก.พ. มีสิทธิสมัครสอบภาค ข และภาค ค ของ ก.ค.ศ. แต่อย่างใด
อนึ่ง หากผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาทางวิชาการศึกษาโดยตรงเมื่อพิจารณาหลักสูตรของ ก.ค.ศ. ในภาค ข ในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ความสามารถเกี่ยวกับวิชาการศึกษา มีคะแนน 75 คะแนน จากคะแนนเต็มของ ภาค ข 150 คะแนน แล้วก็นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้สมัครเข้าสอบแข่งขันที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 4 ปีจะสอบผ่านเหมือนผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาทางวิชาการศึกษาโดยตรง
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.” หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2561
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ. วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2561