ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ สภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้สรุปกรอบในการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษว่า จะดูแลคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคคลพิการ กลุ่มบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นต้องการดูแลเป็นพิเศษ หรือเปราะบาง เช่น เด็กที่มีปัญหาครอบครัว เด็กทะเลาะวิวาท เด็กติดยา ท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น ซึ่งการดูแลจะผสมผสาน ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยและการศึกษาทางเลือก เน้นการศึกษาตลอดชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนเป็นผู้สูงอายุโดยคำนึงถึงความต้องการจำเป็นรายบุคคลและเพื่อตอบสนองความต้องการสิทธิพื้นฐานเพื่อพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ
เลขาธิการ สกศ.กล่าวต่อไปว่าสำหรับประเด็นปฏิรูปที่ต้องดำเนินการมี 7 ประเด็น คือ 1. พัฒนาระบบกระบวนการและเครื่องมือใน การคัดกรอง วินิจฉัย และส่งต่อกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษทั้ง 3 กลุ่ม 2. จัดให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้เข้าถึงการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ให้หลุดจากระบบ ดังนั้น ระบบการส่งต่อต้องดี 3. จัดให้มีเงินสนับสนุนพิเศษ 4. มีการสนับ สนุนพิเศษ เช่นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ 5. การปฏิรูปหลักสูตร ให้มีความเหมาะสมกับผู้เรียน 6. ครูและนักวิชาชีพที่จะมาจัดการศึกษาสำหรับแต่ละกลุ่มที่ต้องดูแลตลอดแนวทั้งการผลิต สรรหา พัฒนา และมีกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสม และ 7. การจัดการศึกษาต้องประกันคุณภาพของผู้เรียน
"ที่ประชุมเห็นว่าในการปฏิรูปเรื่องนี้ต้องทำในเชิงของ Quick Wins ให้เห็นผลด่วนในปีนี้ คือ การคัดกรองเด็ก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาดูเฉพาะเด็กพิการ แต่ เด็ก 2 กลุ่มนี้ยังค้นไม่พบอย่างเป็นทางการ และเสนอปรับปรุงกฎกระทรวงเรื่องการจัดการศึกษาโดยศูนย์การเรียนให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาสำหรับเด็ก ทั้งนี้จะนำข้อสรุปดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาต่อไป" เลขาธิการ สกศ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 1 พ.ค. 2561 (กรอบบ่าย)
นำเสนอในเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 30 เมษายน 2561