รมว.ศึกษาธิการ แจง ยังไม่เห็นข้อเสนอ กอปศ.เรื่องงานวิจัยเงินวิทยฐานะครู ชี้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบวิทยฐานะเป็นเรื่องใหญ่ ต้องศึกษาให้รอบด้าน
วันนี้ 26 (เม.ย.) ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ทำการวิจัย พบว่างบประมาณด้านการศึกษาถูกใช้ไปกับเงินเดือนครู และในจำนวนครู 400,000 คน ได้รับค่าวิทยฐานะในกลุ่มชำนาญการพิเศษ คิดเป็นร้อยละ 53 เพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจให้ครูในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่ดี แต่เมื่อดูจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแล้ว กลับไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงต้องมีการทบทวนดูว่าระบบการจัดสรรงบประมาณในลักษณะนี้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมหรือไม่
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องวิทยฐานะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องถามความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและในระบบกฎหมายปัจจุบันก็ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนตัวตนมองว่าอาจจะไม่ต้องมีการเร่งรัดให้ดำเนินการ เพราะถือว่าไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด แต่หากจะดำเนินการก็จะต้องนำกฏหมายมาใช้ คือ มาตรา 55 ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ระบุว่า ให้มีการประเมินตําแหน่งและวิทยฐานะสําหรับตําแหน่งท่ีมี ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เพื่อดํารงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชํานาญการ หรือความเช่ียวชาญในตําแหน่งและวิทยฐานะท่ีได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง
ท้ังนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการท่ี ก.ค.ศ. กําหนด ไม่ใช่จะไปรื้อ หรือลดเงินในทันที ซึ่งตนขอให้ กอปศ. ทำข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวมาที่ตน และหากจะนำมาตรา 55 มาใช้ก็จะต้องมีระบบที่ดีในการคงไว้ซึ่งวิทยฐานะ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทาง ก.ค.ศ.เองก็พยายามที่จะดำเนินการในส่วนนี้อยู่ด้วย
“ในการเรื่องการคงวิทยฐานะมีการพูดกันมานานแล้ว แต่ผมยังไม่ได้นำมาหารือในรายละเอียด ส่วนที่สังคมเป็นกังวลว่าครูที่ได้รับวิทยฐานะในกลุ่มชำนาญการพิเศษมาจากการจ้างทำผลงานนั้น ผมได้วางระบบเกณฑ์การพิจารณาการเลื่อนวิทยฐานะของครูใหม่แล้ว ซึ่งในระดับ 2 ขั้นแรก คือ ครูค.ศ.1 และครูค.ศ.2 อาจจะไม่ต้องใช้ผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะเลย แต่ผมก็อยากให้ กอปศ. ทำข้อเสนอที่มีรายละเอียดต่างๆ มาให้ด้วย เพื่อที่จะหาแนวทางการดำเนินการต่อไป” รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2561