จะยกคุณภาพ..การศึกษา ต้องพัฒนา “ครู”
ผู้เขียน ดร.กมล รอดคล้าย
ในกระบวนการจัดการศึกษา เด็ก และ ครู ถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะเด็กเป็นผลผลิตของระบบการศึกษา ในขณะที่ครู คือบุคลากรซึ่งประกอบอาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดการศึกษา เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้เรียนมากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาไว้ว่า “การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดีมีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ” คนที่จะทำให้จุดมุ่งหมายดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ก็น่าจะได้แก่ครู
อย่างไรก็ตาม วิกฤตของระบบการผลิตและพัฒนาครู ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน ทั้งในเชิงคุณภาพ และปริมาณ งบประมาณด้านการศึกษาของไทยซึ่งสูงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) กว่าร้อยละ 75 ก็เป็นเงินเดือนสำหรับครู ขณะที่มีงบพัฒนาอยู่ไม่มากนัก เรามีปัญหาคุณภาพครูที่ต่ำลงอันเกิดจากปัญหาหลายประการ ทั้งในด้านการผลิต และพัฒนาครู เช่น ระบบการผลิตครูขาดความต่อเนื่อง ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นในการใช้ครูที่แท้จริง ไม่มีเอกภาพเชิงนโยบาย และมาตรฐานของสถาบันผลิตครูที่ลดต่ำลง รัฐลงทุนด้านการผลิตครูต่ำ ขาดแคลนคณาจารย์ของสถาบันผลิตครู ขาดหน่วยงานรับผิดชอบในการดูแล กำกับ ติดตาม วางระบบการพัฒนาครูในภาพรวม ขาดฐานข้อมูลการพัฒนาครู ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการพัฒนาครู
การพัฒนาครูส่วนใหญ่เป็นการกำหนดกิจกรรมจากส่วนกลาง ซึ่งไม่มีการหาความจำเป็นที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของห้องเรียน รวมทั้ง เป็นการฝึกอบรมในห้องประชุมในโรงแรม ซึ่งเป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน ระบบการบริหารงานบุคคลไม่สามารถสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของครู ไม่สามารถใช้ครูปฏิบัติการสอนได้ตรงตามศักยภาพ ระบบการส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ ค่าตอบแทน ยังไม่สะท้อนผลลัพธ์ด้านคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง
ในเชิงปริมาณ ปัจจุบันประเทศไทยมีครูประมาณ 736,000 คน เป็นครูภาครัฐ 578,000 คน ภาคเอกชน 158,000 คน มีสถาบันพัฒนาครู 113 สถาบัน เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 20 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 7 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 42 แห่ง มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง สถาบันการพลศึกษา 1 แห่ง และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 1 แห่ง โดยมีคณะ/ วิทยาเขต/ วิทยาลัย กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ ปริมาณการผลิตรวมประมาณปีละ 63,000 คน ขณะที่ความต้องการครูทุกสังกัดเพื่อชดเชยครูเกษียณ เฉลี่ยประมาณปีละ 28,000 คน
สาขาของผู้สำเร็จการศึกษาช่วงปี 2561 – 2562 จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 10 อันดับแรก จากมากไปหาน้อย คือ ปฐมวัย พลศึกษา ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา ประถมศึกษา และศิลปศึกษา ซึ่งควรจะต้องผลิตให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง โดยพบว่ามีความสอดคล้องพอสมควร คือ สาขาที่ต้องการ 5 อันดับแรก ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ศึกษา
จากปัญหาทั้งในเชิงคุณภาพ และปริมาณดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู พ.ศ.2558 – 2572 ขึ้น โดยมุ่งเน้นเสนอแนวทางการผลิตและพัฒนาครูเชิงระบบขึ้น โดยกำหนดไว้เป็น 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1.การปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู ได้แก่ การจัดทำแผนการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ครูของประเทศ สร้างความเข้มแข็งในสถาบันผลิตครู วางระบบจัดสรรทุนสำหรับนักศึกษาครู เช่น ครูครุทายาท ครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น การผลิตครูในระบบปิด คือ มีระบบทุนการศึกษาเพื่อเข้าเรียน มีการกำหนดสถานที่ทำงานไว้ให้ เมื่อเรียนจบสามารถบรรจุได้ทันที และมีการพัฒนาแบบเข้ม ปรับรูปแบบการผลิตการเตรียมครูให้ได้ครูดีมีคุณภาพ สามารถปฏิบัติงานในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.การปฏิรูประบบ และรูปแบบการพัฒนาครู ได้แก่ การพัฒนาครูประจำการให้มีความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน การสร้างกิจกรรมพัฒนาครูแบบใหม่ๆ และการสร้างเครือข่ายพัฒนาครู
3.การปฏิรูประบบการใช้ครู และระบบบริหารงานบุคคลของครู ได้แก่ วางระบบการบรรจุแต่งตั้งที่ชัดเจนต่อเนื่อง มีการฝึกปฏิบัติงานในทุกระดับ ทั้งครูผู้ช่วย ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทุกตำแหน่ง รวมทั้ง จัดระบบโครงสร้างการบริหารงานบุคคลของครูทั้งระบบ เช่น การบรรจุ แต่งตั้ง การทดลองงาน ระบบเงินเดือนค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ ภาระงานสอนต่อสัปดาห์ให้สะท้อนผลสัมฤทธิ์ของการทำงาน ส่งเสริมขวัญกำลังใจ และธำรงไว้ซึ่งระบบคุณธรรม
4.การปฏิรูปการวิจัยของสถาบันผลิตและพัฒนาครู ได้แก่ ศึกษาวิจัยหานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครู การพัฒนาครู และการสร้างสิ่งแวดล้อมทางวิชาการที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมจัดการเรียนรู้
5.การสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิต และพัฒนาครู ได้แก่ การมีกลไก หรือหน่วยงานระดับนโยบายรับผิดชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ มีศูนย์พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านผู้นำการศึกษา และการทบทวนกฎหมาย หรือระเบียบปฏิบัติให้เอื้อต่อการผลิต และพัฒนาครู
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครู ดูจะเป็นปัญหาที่หนักหน่วง และสังคมให้ความสนใจ เมื่อมีข่าวทั้งทางบวกและลบเกิดขึ้นจากครูสังคมจะจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีข่าวทางลบสังคมยิ่งจะติดตาม และวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากครูจะใกล้ชิดกับเด็กซึ่งเป็นบุคลากรในครอบครัวของทุกคน ขณะที่การแก้ปัญหาปัจจุบันอาจจะเป็นไปแบบแยกส่วน ทำได้ดีในบางเรื่อง แต่อาจจจะมีผลกระทบ หรือยังไม่ได้ดำเนินการในบางเรื่อง อาจถึงเวลาที่ต้องทบทวน และดำเนินการอย่างจริงจังเสียที ซึ่งผู้เขียนขอเสนอเพียงบางประเด็น คือ
1.ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การผลิต และพัฒนาครูอย่างจริงจัง มีเป้าหมายชัดเจน ทิศทาง และวิธีดำเนินการถูกต้องเหมาะสมครบถ้วน
2.ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบไม่ปรับเปลี่ยนบ่อย จนไม่อาจประเมินความสำเร็จ หรือพบจุดอ่อนของปัญหา อันทำให้ไม่สามารถค้นหาวิธีผลิต และพัฒนาที่เหมาะสมได้
3.ควรให้การสนับสนุนงบประมาณเต็มรูปแบบ และเพียงพอ เนื่องจาก พบว่ารัฐยังลงทุนเพื่อการผลิตครูต่ำ งบประมาณเพื่อการพัฒนายังน้อย และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตำแหน่งต่างๆ
4.สร้างพลังร่วมจากความร่วมมือของครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้เข้ามามีส่วนในการผลิต พัฒนาครู หรือสร้างชุมชนทางวิชาการ (PLC : Professional Learning Community) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือจากครูทั้งประเทศให้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ
ความคาดหวังของสังคม คือต้องมีครูดีเพื่อสร้างเด็กดี วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เราต้องการครูมืออาชีพ มิใช่แค่ผู้ประกอบอาชีพเป็นครู เป็นครูที่สร้างเด็กที่มีคุณภาพ ออกไปรับใช้สังคม และประเทศชาติ การยกระดับคุณภาพการศึกษาต้องเริ่มที่การพัฒนาครู การวางแผน และกำหนดทิศทางการผลิต และ พัฒนาครู ได้ถูกศึกษา และกำหนดไว้แล้ว เหลือเพียงแต่นำมาดำเนินการ
นี่จึงเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ หรือ Priority แรกๆ ที่ฝ่ายบริหารต้องนำมาปฏิบัติ และขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 14 เมษายน 2561