เอกชนหวั่นบริหารโรงเรียนร่วมพัฒนาสะดุด หลังการเมืองเปลี่ยน “หมออุดม” ยันผูกติดแผนยุทธศาสตร์ ศธ.ใครทำให้แย่สังคมไม่ยอมรับแน่ เผยเอกชน 10 แห่งเสนอขอร่วมพัฒนากว่า 70 โรงเรียน
วันนี้ (11 เม.ย.) ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบพลับบลิค สกูล (Public School) ว่า ที่ประชุมได้เปลี่ยนชื่อโครงการพลับบลิค สกูล เป็น โครงการพาร์ทเนอร์ชิพ สกูล (Partnership School) หรือ โรงเรียนร่วมพัฒนา คือ โรงเรียนยังเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีงบประมาณให้ แต่การบริหารจัดการโรงเรียน ทำโดยผู้มีส่วนร่วมตั้งแต่ท้องถิ่น ประชาสังคม ผู้ปกครอง ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะแตกต่างจากโรงเรียนประชารัฐที่มีอยู่ 3,000 กว่าโรง ที่ภาคสังคมจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนบางส่วนเฉยๆ แต่โรงเรียนร่วมพัฒนานี้ เอกชนจะเข้ามาบริหาร ซึ่งคณะทำงานหวังว่าจะเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการโรงเรียนของ ศธ.ทั้งหมด ซึ่งตนคิดว่าหากมีการพัฒนาและเดินตามแนวนี้ไปเรื่อยๆ ใน 20 ปี โรงเรียนในไทยจะเหมือนในต่างประเทศที่เจริญแล้ว ภาคสังคมในท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลและเป็นประธานสถานศึกษา คัดแลือกกรรมการสถานศึกษากันเอง ส่วน ศธ.มีหน้าที่ปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆให้ และดูแลคุณภาพมาตรฐานของโรงเรียน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นเรื่องการบริหารงานบุคคล นั้น ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่เข้าร่วมประชุมด้วยบอกว่า สามารถปลดล็อกได้ ระเบียบได้เปิดไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่กล้าทำ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)จึงสามารถกำหนดเรื่องของการจ้างครูใหม่ การกำหนดคุณสมบัติผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ 4 ปีอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินเดือนของผู้ปฏิบัติงานจะใช้อัตราเงินเดือนเดิม เพียงแต่มีการประเมินผลการทำงานตามเป้าหมายของสถานศึกษาซึ่งจะมีเงินท็อปอัพระหว่างปฏิบัติหน้าที่โรงเรียนร่วมพัฒนาให้ การกำหนดหลักสูตรสามารถกำหนดเองได้ยืดหยุ่นอีก 30% ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สพฐ.ทำคู่มือปฏิบัติงาน พร้อมทั้งตั้งหน่วยงานประสานงานกลางขึ้น เพื่อดูแลโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน เวลาโรงเรียนร่วมพัฒนามีปัญหาก็ส่งเรื่องมาที่หน่วยงานนี้ โดยไม่ต้องผ่านศึกษาธิการจังหวัด หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)
“ขณะนี้มีบริษัทเอกชน 10 แห่งเสนอรายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มาแล้วประมาณ 70 โรง อาทิ บริษัท มิตรผล จำกัด (มหาชน) เสนอชื่อโรงเรียนมา 4 โรง อาทิ รร.บ้านหนองไผ่ดุสิตประชา รร.บ้านภูดิน(มิตรผลอุปถัมภ์)จ.ชัยภูมิ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น วิทยาเขตหนองเรือ จ.ขอนแก่น รร. สมสะอาดพิทยาสรรพ์ จ.กาฬสินธุ์ โรงเรียนอุตสาหกรรมน้ำตาลอิสานและบริษัท รามาฟู้ด จำกัด เสนอโรงเรียนวัดปลักไม้ลาย จ.นครปฐม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เข้าร่วมประชุมวันนี้ได้แสดงความกังวลว่า หากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วนโนบายจะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งผมให้คำยืนยันว่าเรื่องได้เขียนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ ศธ.ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)กำกับไว้ และหากเป็นโครงการที่ดี หากใครมาเปลี่ยนทำให้ดีน้อยลง หรือแย่มากขึ้น สังคมคงไม่ยอม”ศ.นพ.อุดม กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 11 เมษายน 2561