สสช.ย้ำอนาคตผู้สูงวัยมากขึ้น หวังรัฐอุ้มนโยบายการออมเงิน ดูแลสุขภาพ ส่งเสริมกิจกรรมด้านสังคม พร้อมสนับสนุนโครงการมีลูกเพื่อชาติ หวังเด็กรุ่นหลังช่วยดูแล
วันนี้ (10 เม.ย.) ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสสช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า สสช.ได้สำรวจข้อมูลประชากรสูงอายุในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2537 และดำเนินการสำรวจครั้งต่อมาในปี2545, 2550, 2554, 2557 และในปีนี้ 2560 เป็นการสำรวจครั้งที่ 6 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในลักษณะทางประชากรเศรษฐกิจ สังคม ภาวะสุขภาพ การเคลื่อนหนุน ตลอดจนลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุโดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างจำนวน 83,880 ครัวเรือน ทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาลระหว่างเดือนมิ.ย.-ส.ค.60
ทั้งนี้ โครงสร้างด้านประชากรของประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 คือมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 40% และตามการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงขึ้นขึ้นถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดเมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึง 28% ของประชากรทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม สสช.ได้สำรวจประชากรไทยมีจำนวน 60 7.6 ล้านคน ในปี 2560 เป็นชาย 33 ล้านคน เป็นหญิง 34.6 ล้านคน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด เป็นชาย 5.08 ล้านคน เป็นหญิง 6.23 ล้านคน เมื่อแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น 3 ช่วงวัย คือผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) ผู้สูงอายุวัยกลางอายุ (70-79 ปี)และผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้น) ไปจะพบว่า ผู้สูงอายุของไทยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วงวัยต้น 57.4% ของผู้สูงอายุทั้งหมด เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มอัตราของผู้สูงอายุหมายถึงสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งสิ้น 100 คน จะพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 6.8% ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 9.4% ในปี 2545 เป็น 10.7% ในปี 2550 เป็น 12.2% ในปี 2554 เป็น 14.9% ในปี 2557 และเพิ่มขึ้นเป็น 16.7% ในปี 2560
"จะเห็นได้ชัดว่าต่อไปอนาคตผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรจะเข้ามาดูแลในเรื่องของสวัสดิการหรือช่วยเหลือในมาตรการต่างๆ หรือสนับสนุนโครงการมีลูกเพื่อชาติ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนเด็กที่มีสัดส่วนลดลง นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรการต่างๆ มากระตุ้นผู้สูงวัยให้มีลักษณะชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาทิ ส่งเสริมการออมเงิน ส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางสังคม อีกทั้งยังต้องปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นหลังมีกิจกรรมหรือรู้จักเข้าใจและดูแลผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิด”
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 10 เมษายน 2561