“บิ๊กตู่”ปัดยืดอายุข้าราชการเกษียณ แค่ให้จ้างพิเศษคนอายุ 60 ปีในสาขาขาดแคลน-คนมีความสามารถ กก.ปฎิรูปประเทศด้านสังคมชี้รอ ก.พ.แก้ไข พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญก่อนเดินตามแผน ยันไม่เอื้อราชการ
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกรณีที่แผนการปฏิรูปประเทศกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงการยืดการเกษียณอายุราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ว่า ต้องคำนึงถึงคนที่อยู่ในระบบราชการด้วย การต่ออายุราชการก็ทำให้คนอื่นๆหนาวๆร้อนๆด้วย ทั้งนี้เราต้องไปดูตำแหน่งงานของข้าราชการที่สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ขาดแคลนบุคลากร อาทิ แพทย์ นักวิชาการ รวมถึงกรณีของรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งเมื่อเขามีอายุ 60 ปีแล้ว ถ้ายังสามารถทำประโยชน์ได้อยู่ ก็จะมีการพิจารณาว่าใช้ประโยชน์เขาได้อย่างไร แต่ไม่ใช่การต่ออายุราชการให้ โดยเรื่องนี้เป็นความคิดเห็นของคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศเสนอมาหลังจากไปรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ และสรุปผลการศึกษาของเขา แต่รัฐบาลต้องนำมาพิจารณาคัดกรองอีกครั้ง ทั้งนี้ขออย่าใช้คำว่าขยายอายุข้าราชการเกษียณ แต่ให้ใช้คำว่าให้คนที่มีสมรรถนะและสมรรถภาพได้มาทำงานเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศัลยแพทย์ที่เป็นข้าราชการและเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานสูงซึ่งจะได้รับการว่าจ้างต่อแบบพิเศษ แต่หากมาบอกว่าให้ขยายอายุข้าราชการเกษียณไปถึง 63 ปี อาจทำให้ข้าราชการระดับล่างไม่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูด้วย นี่คือเรื่องจริง ไม่ใช่ข้อแก้ตัว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับแผนปฏิรูปประเทศที่ออกมานั้น เป็นขั้นตอนแรก หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งรัฐบาลต้องมีกฏเกณฑ์และระเบียบที่ชัดเจน แต่มีบางเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ เพราะเขาไม่ได้พูดว่าจะให้ทำอย่างไร รัฐบาลจึงต้องทบทวน ถ้าเรื่องใดที่ทำได้ เราจะทำทันทีในปีงบประมาณ 2561 หรือ 2562 โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานนั้นๆเอง ซึ่งเรื่องใดที่มีความสำคัญและต้องทำเพิ่มเติม ก็สามารถเสนอเรื่องต่อครม.เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องปฏิรูป 11 เรื่อง ใน 6 เล่ม เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 2,166 หน้า มีประเด็นน่าสนใจระบุไว้ในเล่มที่ 5 ว่าด้วยแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีดสารสนเทศ และด้านสังคม จำนวน 277 หน้า
โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุอยู่ในหมวดภาพรวมการปฏิรูปด้านสังคม ดำเนินการโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่มีนายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นประธาน ในเรื่องและประเด็นการปฏิรูปที่ 2 :กลุ่มผู้เสียโอกาสทางสังคม ให้มีการดำเนินการปฏิรูปกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมภายใต้แนวคิด “ปฏิรูปเพื่อปลดล็อค” อุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้คนบางกลุ่มในสังคมซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การเมือง กฎหมาย และวัฒนธรรมจนกลายเป็นผู้เสียเปรียบ ตลอดจนการสร้างโอกาสให้คนทุกคนสามารถ เข้าถึงบริการต่างๆ ได้ทุกมิติอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน ซึ่งกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคมครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย สำคัญ อาทิ เด็กและเยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ คนยากจน คนไร้ที่พึ่ง บุคคลไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร ผู้พ้นโทษ ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี (HIV) และ ผู้บริโภค โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการคิด รูปแบบการดำเนินงาน จากการ “สงเคราะห์” มาเป็นการสร้างเสริมปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อกลุ่มเป้าหมาย “จากผู้รับเป็นผู้ผลิต” เกิดความ เข้มแข็ง ให้สามารถดูแลช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการ ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศได้
ทั้งนี้ในส่วนแผนการปฎิรูปประเทศด้านสังคม หน้า 34 ได้ระบุถึงการเสริมสร้างผู้สูงอายุในการทำงาน คือ ขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี (โดยใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี ) เพื่อเป็นต้นแบบ ในการขยายเวลาการทำงานและค่อยๆ ขยายเวลาเป็น 2 ปี ขยาย 1 ปี (จะไม่กระทบต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่ ทดแทนคนที่เกษียณอายุ) โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพ ทางร่างกาย โดยวิธีการ 1. ศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่ จะมีการขยายอายุเกษียณ 2. แก้ไข พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญ ให้ขยายอายุเกษียณราชการ เป็น 63 ปี โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบคือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)
นายวิเชียร ชวลิต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า สำหรับข้อสรุปในการขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 เป็น 63 ปีนั้น เป็นไปตามกรอบเวลาการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ ซึ่งมีระยะเวลาการทำงาน 5 ปี โดยจะมีการขยายเวลาในลักษณะ 2 ปี ขยาย 1 ปี ในช่วง 5 ปีนี้ เราก็จะสามารถดำเนินการได้ 3 รอบ โดยขณะนี้ทาง ก.พ.และ ก.พ.ร. พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เมื่อแก้กฎหมายแล้วเสร็จก็จะเริ่มดำเนินการได้ทันที
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การดำเนินการขยายอายุเกษียณราชการ เราต้องการให้ดำเนินการกับข้าราชการทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตามในส่วนของทหารและตำรวจหรือบางหน่วยงาน อาจจะมีเรื่องสมรรถภาพทางร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานหรือไม่ ซึ่งหากศึกษาและประเมินแล้วสมรรถภาพทางร่างกายยังพร้อมต่อการทำงานก็น่าจะขยายอายุการเกษียณราชการอายุได้ โดยก.พ.กำลังประเมินในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าการขยายอายุเกษียณจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มข้าราชการ โดยเฉพาะขณะนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลทหารหรือไม่ นายวิเชียร กล่าวว่า ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับข้าราชการ เราต้องยอมรับว่ากฎหมายที่ให้คนไทยเกษียณอายุราชการในอายุ 60 ปี ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก และปัจจุบันนี้คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เพราะการแพทย์และการสารธารณสุขพัฒนาดีขึ้น คนอายุ 60 ปี ก็ยังแข็งแรงมีศักยภาพและประสบการณ์ในการทำงานที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ ดังนั้นอย่าไปคิดว่าข้าราชการได้ประโยชน์อะไร เวลานี้ประเทศไทยมีสถิติคนเกิดน้อย จึงควรส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของคนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติจะเหมาะสมกว่า.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 10 เมษายน 2561