ผู้เขียน จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ
กลายเป็นกระทรวงที่ไม่ว่าจะแตะจะจับไปตรงไหน ล้วนแล้วแต่เจอปัญหา “ทุจริต” ทั้งสิ้น สำหรับ “กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” ซึ่งสวนทางกับการเป็น “กระทรวงครู” ที่เป็นผู้สร้างเบ้าหลอม และผลิตเยาวชนออกไปเป็นอนาคตของชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จึงนำทีมผู้บริหาร ศธ.แถลงความคืบหน้าในการตรวจสอบปัญหาทุจริตต่างๆ ภายในกระทรวง ซึ่งทุกเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นตรวจสอบนั้น นพ.ธีระเกียรติประกาศจะเดินหน้าตามมาตรการปราบปรามและป้องปรามการทุจริต ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดกรอบเวลาให้สืบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
เริ่มจากปัญหาการทุจริตที่สังคมกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด อย่างการตรวจสอบทุจริต “กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต” ที่มีเงินสูญหายประมาณ 110 ล้านบาท ซึ่งนายอรรถพล ตรึกตรอง ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คาดว่าการตรวจสอบจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นก่อนสงกรานต์นี้ และจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งการประชุมคณะกรรมการสืบสวนฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา นางรจนา สินที อดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) สังกัดสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการ ไม่ยอมโผล่มาชี้แจง และคณะกรรมการสืบสวนฯ ยืนยันจะไม่เชิญมาให้ข้อมูลซ้ำอีก
ส่วนการขอข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นอดีตปลัด ศธ., อดีตรองปลัด ศธ., ผู้อำนวยการสำนักฯ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเสมาฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีบางส่วนได้เดินทางมาชี้แจง ขณะนี้มีบางส่วนทำหนังสือชี้แจงข้อมูล และบางส่วนส่งทนายความมาขอขยายเวลาการชี้แจงออกไปอีก 15 วัน หรือในวันที่ 25 เมษายนนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมานานแล้ว และมีความซับซ้อน
คณะกรรมการสืบสวนฯ ได้พบข้อมูลล่าสุดว่ามีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานผู้รับโอนเงิน เป็นข้าราชการสังกัดอื่น ซึ่งอยู่ใน จ.ศรีสะเกษ และ จ.บุรีรัมย์ เบื้องต้น 2 ราย และเป็นข้าราชการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทางภาคอีสานอีก 1 ราย
นอกจากนี้ ศธ.ยังประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบหลักฐานต่างๆ เช่น เอกสารหลักฐานที่ตรวจยึดมาได้จากห้องทำงาน ประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ และเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือทวงถามการโอนเงินจากสถานศึกษาผู้รับทุน และหนังสือแจ้งการโอนเงินไปยังสถานศึกษา แต่พบพิรุธว่ามีการปลอมลายเซ็นผู้บริหาร เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนฯ นัดหมายว่าจะนำไปส่งมอบให้ ป.ป.ท.ในวันที่ 10 เมษายน
อย่างไรก็ตาม จากการสืบสวนในเชิงลึก พบว่าข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของนางรจนาส่วนหนึ่ง เกี่ยวข้องกับการเล่นหุ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่านางรจนาอาจนำเงินบางส่วนไปเล่นหุ้น
โดยภาพรวม ถือว่าเรื่องนี้คืบหน้าไปมากกว่า 90%
การสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงนายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรณีถูกกล่าวหาเรียกรับเงิน หรือ “แป๊ะเจี๊ยะ” 4 แสนบาท เพื่อรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 ปีการศึกษา 2560 ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติได้รายงานผลสอบอย่างไม่เป็นทางการแล้ว พบว่านายวิโรฒมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีโทษไล่ออก ปลดออก ซึ่งเดิมคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ จะต้องสรุปรายงานเสนอให้ศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (ศธจ.กทม.) นำเข้าสู่การพิจารณาโทษอย่างเป็นทางการในวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.และประธาน กศจ.กทม.จึงได้เลื่อนประชุมตัดสินชะตานายวิโรฒออกไปเป็นวันที่ 10 เมษายนนี้
ล่าสุด นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงนามในคำสั่ง ที่ ศธ 04009/ว 1819 เรื่องมาตรการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถึงผู้อำนวยการ สพท.ทั่วประเทศ โดยอ้างถึงมาตรการป้องกันการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้รับทราบถึงความผิดและบทลงโทษ กรณีการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเงินบริจาค ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นเงินบริจาค แต่ถือเป็นเงิน “สินบน”
ในฐานะผู้รับสินบน และให้สินบน ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมาย ป.ป.ช.!!
สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออควาเรียม ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งยืดเยื้อมายาวนานนับ 10 ปี และ นพ.ธีระเกียรติเพิ่งได้รับรายงานถึงความผิดปกติเมื่อช่วงต้นปี 2561 นั้น ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีปลัด ศธ.เป็นประธาน ได้ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างอควาเรียม และได้พบความผิดปกติใหญ่ๆ 2 ประการ ได้แก่ โครงการนี้ควรจะดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่ไม่เสร็จ และในปี 2557 มีการต่อสัญญาเรื่อยๆ รวมถึง มีการแก้ไขสัญญาถึง 6 ครั้ง มีการเบิกเงินล่วงหน้า
นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ยังได้ทำงานประสานกับ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้น ในส่วนของข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดสร้างอควาเรียม ซึ่ง พล.ท.โกศลระบุว่าข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่ตรงกับที่ตั้งประเด็นไว้ เช่น การจ่ายเงินล่วงหน้า 125 ล้านบาท มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน การขอแก้สัญญาถึง 6 ครั้ง จนทำให้ต้องขยายเวลาการดำเนินงาน ซึ่งจากเดิมกำหนดแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่ไม่เสร็จ และขยายเวลาไปถึงปี 2557
นอกจากนี้ พล.ท.โกศลยังตั้งประเด็นเรื่องค่าปรับวันละ 8 หมื่นบาท ที่ สอศ.ได้ใช้สิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาอย่างละเอียดหรือไม่ อีกทั้ง ยังมีกรณีที่ สอศ.จัดสรรงบลงไปอีกในปี 2558 จำนวน 126 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 42 ล้านบาท และในปี 2560 จำนวน 69 ล้านบาท ซึ่งพบว่างบที่จัดสรรลงไปทั้ง 3 ปี นำไปจัดสร้างในส่วนของภายนอกไม่เกี่ยวกับภายในตัวอาคาร ซึ่งน่าจะมีความผิดปกติ แต่ยังได้เอกสารไม่ครบตามที่ต้องการ
ล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ทำหนังสือไปยังกรมบัญชีกลาง และ สอศ.เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องประมาณ 30-40 เรื่อง เมื่อได้เอกสารจะศึกษา และเชิญพยานบุคคลเข้ามาให้ข้อมูล โดยจะดูจากเอกสารว่ามีความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นจะเกี่ยวข้องกับกรรมการตรวจรับ กรรมการบริหารโครงการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และบริษัทที่จัดสร้างที่ปิดตัวไปแล้ว และพบว่ามีการทำสัญญาที่ผิดปกติ
แต่เนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานถึง 10 ปีแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการตรวจสอบฯ อาจต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และไม่สามารถตรวจสอบได้ทันภายใน 7 วัน ตามมาตรการปราบปรามและป้องปรามการทุจริต ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้เบื้องต้นจะพยายามสรุป เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ทันก่อนสิ้นเดือนเมษายนนี้
ส่วนกรณีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่นำเงินจำนวน 2,500 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญากับ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด เพื่อนำไปลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี นั้น คดีถือว่ามีความคืบหน้ามาก เพราะล่าสุดศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกผู้บริหารบริษัทบิลเลี่ยนฯ จำนวน 2 ราย คนละ 10 ปี พร้อมริบของกลาง ส่วนอดีตคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ของกองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยสมาชิกเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทาง ศธ.ได้ลงโทษไล่ออกจากราชการแล้ว 6 ราย
ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดทั้งวินัย และอาญา อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย รวมถึง ได้ตั้งคณะกรรมการสอบละเมิด และได้ข้อสรุปชี้มูลว่า กรรมการกองทุนฯ มีความผิด โดยจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบ
รวมถึง การดำเนินการฟ้องแพ่งเพื่อเรียกเงิน 2,100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี คืนจากธนาคารธนชาตให้กับ สกสค.เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการอนุมัติ ปิดบัญชี และเบิกถอนเงินของ สกสค.ที่ฝากไว้ไม่ถูกต้องนั้น ทางสำนักงาน สกสค.ส่งเรื่องให้อัยการเป็นผู้ทำเรื่องฟ้องแพ่งเพื่อเรียกเงินคืนจากธนาคารธนชาตแล้ว
ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติระบุว่า กรณีของบริษัทบิลเลี่ยนฯ ถือว่าจบสิ้นกระบวนการทุกอย่าง!!
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นการตรวจสอบทุจริตที่เพิ่งถูกเปิดเผยขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นข้าราชการของ สพฐ.อีกหลายสิบราย โดยนายบุญรักษ์ระบุว่า สพฐ.อยู่ระหว่างตรวจสอบกรณีการทุจริตที่ได้รับร้องเรียน และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว 41 ราย ซึ่งจะพิจารณาว่าใครที่จะต้องถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อนบ้าง หรือย้ายออกจากตำแหน่งบ้าง และมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวน 9 ราย ถ้ามีมูลจะดำเนินการตามมาตรการ คสช.คือให้ออกจากราชการไว้ก่อน หรือให้ออกจากตำแหน่ง หรือให้ย้าย
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นข้าราชการเฉพาะที่อยู่ในส่วนกลาง รวม 50 ราย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน และการประพฤติผิดต่อหน้าที่ มีตั้งแต่ระดับ (ซี) 9 ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 6 ราย นอกนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคลากรในเขตพื้นที่ฯ ซึ่งเลขาธิการ กพฐ.ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการ และรายงานให้ทราบ
ก็ต้องติดตามว่าการตรวจสอบทุจริตของ ศธ.ในแต่ละเรื่อง จะเอาตัวคนผิดมาลงโทษ เพื่อเรียกศรัทธาคืนให้กระทรวงคุณครูได้หรือไม่!!
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 10 เมษายน 2561