ศธ.ถกสภาพัฒน์-สำนักงบฯ เตรียมชง ครม.ขอ 11,000 ล้านบาท ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ สนองยุทธศาสตร์ชาติ และอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรก พ.ค.นี้
วันนี้ (9 เม.ย.) ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช. ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือกับ ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยได้หารือเกี่ยวกับหลักสูตรการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัย และ วิทยาลัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสนอหลักสูตรเข้ามาให้พิจารณา โดยมีหลักสูตรผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการกลั่นกรอง จำนวน 200 กว่าหลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรระยะสั้น จำนวน 119 หลักสูตร ใน 20 วิทยาลัย เน้นพัฒนาทักษะให้คนที่ทำงานแล้วประมาณ 20 ล้านคน เพื่อพัฒนาทักษะและสมรรถนะ เมื่อจบแล้วได้รับประกาศนียบัตร ไม่ได้รับวุฒิการศึกษา และ หลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี จำนวน 100 กว่าหลักสูตร ใน 20 มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินอุดหนุนรายหัว ซึ่งจะเริ่มรับสมัครนักเรียน นักศึกษา ในปีการศึกษา 2561 นี้
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรระยะสั้น จะให้งบฯอุดหนุนรายหัว เฉลี่ยรายละ 6 หมื่นบาทต่อคนต่อหลักสูตร สามารถผลิตได้ 2.6 หมื่นคนต่อปี ใช้งบฯ จำนวน 1,500 ล้านบาท หลักสูตรระดับปริญญาตรี แต่ละสาขาจะใช้งบฯ 1-2 แสนบาทต่อคนต่อปี ผลิตบัณฑิตได้จำนวน 1 หมื่นคน ใช้งบประมาณ ปีแรก 560 ล้านบาท รวมปีการศึกษา 2561 ต้องใช้งบฯดำเนินการโครงการดังกล่าว จำนวน 2,060 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 17 เมษายนนี้ สำหรับปีแรก จะเสนอขอใช้งบประมาณกลาง ส่วนปีต่อไปจะเสนอของบประมาณต่อเนื่องระยะ 5 ปี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว รวมงบประมาณที่ต้องใช้ในโครงการนี้ทั้งหมด ประมาณ 1.1 หมื่นล้าน ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการให้ทันต่อการรับนักศึกษาเข้าเรียน ในปีการศึกษา 2561 ทั้งในส่วนของหลักสูตรระยะสั้นที่วิทยาลัยสังกัด สอศ. จะเปิดเทอมในกลางเดือนพฤษภาคม และหลักสูตรปริญญาตรี มหาวิทยาลัยต่างๆจะคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันศึกษาในระบบกลาง ปีการศึกษา 2561ในระบบทีแคส รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้เช่นกัน
“เรื่องนี้เป็นนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการผมมาโดยตรงด้วยวาจา ให้แก้ไขปัญหาบัณฑิตตกงาน และทำให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตตอบยุทธศาสตร์ชาติ และอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน โดยกำหนดว่าหลักสูตรการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะต้องไปเรียนของจริง ทำงานในสถานที่จริง 50% ของเวลาเรียนทั้งหมด เช่น หลักสูตร 4 ปี ต้องเรียนในสถานที่จริง 2 ปี จะต้องตามไปดูแลตลอดทุกวัน ภาคอุตสาหกรรม ก็จะต้องตั้งคนมาสอนควบคู่กับมหาวิทยาลัย เป็นการสร้างคนให้มีแนวคิด คิดวิเคราะห์ และทำงานได้จริงจากประสบการณ์จริง “นพ.อุดม กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2561