กอปศ.ชี้สมาพันธ์มีบทบาทสำคัญ
จากกรณีที่สมาพันธ์สภาวิชาชีพ 11 แห่ง เสนอข้อห่วงใยต่อร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา โดยให้ทบทวนนิยามคำว่า “องค์กรวิชาชีพ” ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงอำนาจหน้าที่องค์กรวิชาชีพตามที่กฎหมายขององค์กรวิชาชีพกำหนด อีกทั้งควรทบทวนการให้บริการทางวิชาชีพของสถาบันการศึกษา รวมถึง บทบาทสภาวิชาชีพต่อการจัดการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ขณะนี้มีร่างกฎหมายของคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษากับร่างของคณะกรรมการอิสระเพื่อ การปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งตนได้ส่งร่างกฎหมายทั้งหมดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารวมร่างแล้ว โดยไม่มีร่างฝ่ายใดเป็นร่างหลัก เพราะถือว่ามีศักดิ์ศรีเท่ากัน อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์วิชาชีพควรเสนอข้อห่วงใยนี้ต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยตรง เพราะตนก็ต้องส่งต่อให้รองนายกฯอยู่ดี
“ที่ผ่านมาเคยหารือร่วมกับสมาพันธ์วิชาชีพแล้วครั้งหนึ่ง โดยชี้แจงไปว่าเป็นข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ว่าไม่ให้สภาวิชาชีพเข้ามาก้าวก่าย ผมไม่สามารถบอกได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกรณีนี้ ต้องขึ้นกับการตีความคำว่าก้าวก่าย โดยต้องให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา, สมาพันธ์สภาวิชาชีพ และกระทรวงอุดมศึกษา ที่จะตั้งขึ้นใหม่ มาร่วมตีความว่าตรงไหนเรียกว่าก้าวก่าย ก็ต้องไปแก้ปัญหากันตรงนั้น” นพ.ธีระเกียรติกล่าว
ด้าน ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ. ในฐานะคณะอนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .. กล่าวว่า บทบาทของสภาวิชาชีพ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อย่างชัดเจน เราจะขัดกับรัฐธรรมนูญหลักไม่ได้ แต่คณะอนุฯได้ยกร่าง พ.ร.บ.โดยระบุบทบาทของสภาวิชาชีพให้มากขึ้น หากสมาพันธ์สภาวิชาชีพ 11 แห่ง ยังมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็สามารถมาหารือกับตนได้ เพราะเรื่องคุณภาพของบัณฑิตถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้น สภาวิชาชีพจะต้องมีบทบาทดูแล แต่ไม่ใช่กำกับอย่างรุนแรง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการดำเนินการ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายกำกับคุณภาพ และฝ่ายมหาวิทยาลัย จากนี้วิชาชีพต่างๆต้องเข้ามาร่วมกับฝ่ายกำกับคุณภาพในการกำหนดหลักเกณฑ์คุณภาพต่างๆ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 9 เมษายน 2561