คลอด ‘เกณฑ์ย้ายเฉพาะกิจ’ แก้ปม..ร้างผู้บริหาร 7 พันตำแหน่ง ทางออกสุดท้าย..ของ ก.ค.ศ.?
ผู้เขียน เบญจมาศ เกกินะ
- ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2559 กับปัญหาการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว24 หลังผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองอุบลราชธานี โดยศาลปกครองมีคำสั่งให้ทุเลาบังคับคดีดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาต่อศาลปกครองสูงสุด และทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ชะลอการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ที่ยื่นคำร้องขอย้ายระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2560 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทุเลา เป็นผลให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ยังไม่สามารถมีคำสั่งอนุมัติ แต่งตั้งโยกย้าย ผู้อำนวยการโรงเรียน 18 แห่ง ที่ผ่านการพิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาอีก 40 แห่ง
เมื่อไม่สามารถย้ายได้ จึงไม่มีตำแหน่งสุดท้ายของการย้ายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดสอบบรรจุ “ผู้อำนวยการโรงเรียน” และ “รองผู้อำนวยการโรงเรียน” มาเกือบ 2 ปีแล้ว ทำให้จำนวนอัตราว่างเดิม รวมกับอัตราเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2559 และปี 2560 เพิ่มขึ้น รวมแล้วกว่า 7,000 อัตรา จำนวนนี้ยังไม่นับรวมผู้บริหารโรงเรียนที่จ่อจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2561 อีกจำนวนมาก
ทำให้สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ผู้อำนวยการโรงเรียนออกมาเรียกร้องให้ *นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก.ค.ศ.และ สพฐ.หา *”ทางออก”* ให้ได้โดยเร็วที่สุด
ที่ผ่านมา มีข้อเสนอทางแก้ไขปัญหาหลายแนวทาง เช่น ยกเลิกหลักเกณฑ์การย้ายตาม ว24 ซึ่งทำให้เกิดปัญหา ขณะที่ ก.ค.ศ.เองมีข้อเสนอให้จัดสอบผู้อำนวยการโรงเรียน แล้วขึ้นบัญชีไว้ก่อนอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าศาลปกครองจะมีคำสั่ง หรือสามารถดำเนินการย้ายได้เสร็จสิ้น ซึ่งทั้ง 2 แนวทางล้วนมีทั้ง ข้อดี และข้อเสีย รวมถึง ทำให้มีผู้เสียสิทธิ
ท้ายที่สุด ผู้ที่จะถูกกดดัน และเสี่ยงถูกฟ้องซ้ำซ้อนจากเรื่องนี้ หนีไม่พ้น ก.ค.ศ.และ สพฐ.เรียกว่าจะออกแนวทางไหน ก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เป็นประธาน ตัดสินใจฟันธง เดินหน้าย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน โดยมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ยกร่างหลักเกณฑ์การย้ายเฉพาะกิจเฉพาะกลุ่มนี้ โดยหลักการยึดตามเกณฑ์ ว9 แต่จะต้องไม่ให้กระทบกับคำสั่งศาลปกครองที่มีการฟ้องร้องหลักเกณฑ์การย้ายตาม ว24 ข้อ10 และข้อ 11 และให้ยึดหลักการตามคำสั่งศาลที่ให้สามารถพิจารณาการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้การทำงานสามารถเดินต่อไปได้ เพราะถ้ารอผลการอุทธรณ์เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ทันการณ์ และปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะลุกลามมากไปกว่านี้…
โดยเฉพาะการสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้บริหารเกษียณไปจำนวนมาก บางแห่งร้าง ไม่มีผู้บริหารทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ถึงขั้นต้องให้ครูนั่งแท่นรักษาการผู้บริหารไปพลางๆ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนบางแห่งต้องนั่งควบสั่งการ 2 แห่ง
แม้ที่ผ่านมา สพฐ.จะใช้หลักบริหารจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จัดอบรมผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากไม่ใช่ตัวจริง ก็ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไปด้วย
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.ระบุว่า การอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร หายังรอจนกว่าศาลจะมีคำสั่งอาจจะเกิดปัญหา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถเดินไปได้ สำนักงาน ก.ค.ศ.จะไปกำหนดหลักเกณฑ์การย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นการเฉพาะ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะใช้เฉพาะการย้ายผู้บริหารโรงเรียนครั้งนี้เท่านั้น และจะต้องไม่ไปกระทบกับข้อ 10 และข้อ 11 ของ ว24 และคำสั่งศาลที่ให้มีการทุเลา เพื่อให้การพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสามารถดำเนินการต่อไปได้
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การจัดสอบผู้อำนวยการโรงเรียน จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีตำแหน่งสุดท้ายจากการย้ายเรียบร้อยแล้ว ถ้าย้ายเสร็จแล้ว สพฐ.ก็พร้อมจะดำเนินการจัดสอบ โดยครั้งนี้ต้องจัดสอบทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่ง เดือดร้อนมาก รวมแล้วประมาณกว่า 7,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกันจะต้องเตรียมสอบครูผู้ช่วยด้วย เพราะครูบางคนมีคุณสมบัติไปสอบเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนจะดำเนินการได้เมื่อไรนั้น สพฐ.ไม่สามารถบอกได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การย้ายใหม่ ซึ่ง ก.ค.ศ.อยู่ระหว่างดำเนินการ หากการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งหน้า คณะกรรมการ ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การย้ายใหม่ และสามารถประกาศใช้ เพื่อให้ กศจ.แต่ละแห่งไปดำเนินการย้ายผู้บริหารโรงเรียนในกลุ่มนี้ สพฐ.ก็พร้อมเปิดสอบผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะหลักเกณฑ์การสอบมีอยู่แล้ว คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
“เหตุผลที่บอร์ด ก.ค.ศ.ไม่ใช้หลักเกณฑ์ ว9 ในการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน หรือยกเลิก ว24 ตามที่มีผู้เสนอมา เพราะการดำเนินการเรื่องนี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง ซึ่งตามจริงแล้ว เกณฑ์การย้ายครั้งนี้ยึดหลักการตามเกณฑ์ ว9 แต่สำนักงาน ก.ค.ศ.ต้องไปดูรายละเอียด และวางแนวทางดำเนินการในเชิงบริหาร ข้อใดที่เข้าข่ายไปเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การย้ายในข้อ 10 และข้อ 11 ของ ว24 ก็ทำไม่ได้ เพื่อไม่ให้ไปก้าวล่วงศาล” นายบุญรักษ์ กล่าว
ต้องติดตามว่าการตัดสินใจยกร่างหลักเกณฑ์การย้ายเฉพาะกิจครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่โจทย์สำคัญที่ ก.ค.ศ.ต้องไปคิดต่อ คือทำอย่างไรให้หลักเกณฑ์ใหม่ที่กำลังจะคลอดเร็วๆ นี้ ไม่มีปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก!!
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 3 เมษายน 2561