ส.ปส.กช.ชี้ โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบจากโรงเรียนรัฐ ขยายจัดการศึกษาระดับอนุบาล-จำนวนเด็กลดลง ครูเอกชนนับหมื่นมีสิทธิ์ตกงาน
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทำให้สถานศึกษาของรัฐทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐอีกหลายหน่วยงานที่จัดการศึกษา 12 ปี ต้องขยายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็กตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นในปีการศึกษา 2561 ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 แล้ว คือ จำนวนนักเรียนชั้นก่อนประถมศึกษาของโรงเรียนเอกชนลดลง เพราะเด็กย้ายไปเรียนในโรงเรียนรัฐเนื่องจากเป็นการเรียนฟรี
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า ปีการศึกษา 2560 เด็กเริ่มลดลงแล้วแต่ยังลดลงไม่มาก เพราะโรงเรียนของรัฐเพิ่งเริ่มจัดชั้นอนุบาลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ปีนี้จะต้องขยายผลเต็มพื้นที่ ซึ่งจากการประเมินคาดว่า เด็กโรงเรียนเอกชนจะลดลงมากขึ้น โดยรวมกันทุกชั้นอาจลดลง 10-20% หรือ 30,000-50,000 คน เพราะจำนวนประชากรลดลงด้วย และถ้าเป็นอย่างที่คาดการณ์จริง ไม่เฉพาะโรงเรียนเอกชนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ครูก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะเมื่อจำนวนเด็กลดลง ค่าใช้จ่ายรายหัวก็ต้องลดลง แต่ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนไม่ได้ลดลงตาม โรงเรียนก็อาจต้องเลย์ออฟครู หรือ ให้ครูที่ไม่ผ่านการประเมินออก ทั้งในส่วนของครูและอัตราจ้าง หรือ ถ้าโรงเรียนไหนมีครูลาออกก็คงไม่รับเพิ่ม เพราะโรงเรียนก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายเช่นกัน
“ปีนี้น่าจะเริ่มเลย์ออฟครูเยอะ ถ้าเด็กลดลงเยอะก็มีความเป็นไปได้ว่าต้องเลย์ออฟครูเกือบหมื่นคน ที่หนัก ๆ ก็จะเป็นระดับอนุบาลกับประถมศึกษา ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่มีใครเห็น แต่มันเป็นกระแสที่เตือนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามจากการที่สมาคมโรงเรียนเอกชนทุกประเภทได้เข้าพบหารือร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ก็ได้มีการนำเสนอปัญหานี้ไปแล้วเช่นกัน โดยได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการขอรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว 100% ซึ่งถ้ารัฐให้ได้โรงเรียนเอกชนก็สามารถจัดฟรีได้เหมือนที่รัฐจัด ซึ่งรมว.ศึกษาธิการก็รับไฟพิจารณา แต่ส่วนตัวผมคิดว่าคงยังไม่ได้แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะค่อย ๆ ขยับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นให้ได้”ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2561