เด็กเมืองหมอแคนดังไกลไปทั่วโลก นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนเมทนีดล ขอนแก่น คว้ารางวัลนำเสนองานวิจัยดีเด่นจากงานวิจัยทั่วโลกที่ส่งชิง 142 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา ป.โท-ป.เอกกว่า 200 คน 21 ประเทศ เผยเป็นนักวิจัยอายุน้อยที่สุดจากผลงานวิชาการด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน
วานนี้(26 มี.ค.61) ที่ ห้องทำงาน ชั้น 4 ศาลากลาง จ.ขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น แสดงความยินดีพร้อมยกย่องชื่นชมกับเด็กหญิงอริสา อิวาย นักเรียนระดับชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนเมทนีดลขอนแก่น ที่คว้ารางวัลนำเสนองานวิจัยดีเด่นผลงานวิชาการด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดที่ มหาวิทยาลัย Yezin Agricultural มหาวิทยาลัยอันดับ 1 เมือง Nay Pyi Taw ประเทศเมียนมา โดยมีนายสุวัฒน์ชัย แสนราช รองศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น นางสาวจิรดา พูลสวัสดิ์ ปชส.จังหวัดขอนแก่น ดร. อรทัย สันติเมทนีดล ผอ.รร.เมทนีดล และคณะครูร่วมชื่นชมยินดี
"เป็นที่ฮือฮาและทึ่ง!วงการการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท-เอก ที่นักเรียนระดับประถมศึกษาสามารถสร้างงานบทความโครงงานวิจัยและนำเสนอให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ อันสร้างชื่อเสียงให้กับชาวขอนแก่นในเวทีระดับโลก เพราะเป็นนักวิจัยที่อายุน้อยที่สุดที่สามารถแสดงศักยภาพ และนำเสนองานวิชาการได้อย่างน่าชื่นชม และยังได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวหลายๆประเทศ"
ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่าต้องขอชื่นชมตัวน้องอลิสา นั้นก็คือแรงบันดาลใจของน้องๆเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ซึ่งยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 การที่น้องอลิสาบอกว่า แรงบันดาลใจ อันยิ่งใหญ่ในการที่เห็นพระองค์ท่านนั้นทุ่มเทพระวรกายในการศึกษาเรื่องดินและน้ำ แล้วจึงนำมาใช้ในการศึกษาด้วยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเมทนีดล แห่งนี้ ที่สำคัญผู้ปกครองเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของครอบครัว ที่นำมาสู่การที่ลูกหลานของเราเป็นคนดี ในด้านการศึกษา รวมถึงการจัดทีมให้มีสิ่งที่ทำให้เด็กนั้นกล้าแสดงออก สำหรับเยาวชนของคนไทยทั้งประเทศ
ดร.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งจำเป็นที่เราจะต้องนำเอาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว นั้นคือเรื่องสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวมากที่สุด ที่มีให้เห็นอยู่แล้วในภาคอีสาน นั้นจะได้นำประเด็นนี้ขึ้นมาศึกษา นำองค์ความรู้ที่เรามีอยู่มาศึกษาต่อเนื่องกันและที่สำคัญกับสิ่งที่เราเห็นวันนี้คุณทำดี เป็นสื่อการสอนโดยใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นสิ่งที่เพิ่มขีดความสามารถของเราการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วโดยเฉพาะในวันข้างหน้านั้นแต่เรื่องการสื่อสารกับประเทศอื่น อีก มันเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
เด็กหญิง อริสา อิวาย กล่าวว่าตนมี 2 แรงบันดาลใจ นั้นคือแรงบันดานใจแรกของตนก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านเป็นเป็นบิดาแห่งทรัพย์ด้านการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ เพราะเห็นท่านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนั้นตนเองและเพื่อนๆจึงสืบสานพระราชปณิธาน ของพระองค์ท่าน ส่วนแรงบันดาลใจที่ 2 แล้วก็คือคุณแม่ โดยท่านเป็นอาจารย์สอนที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุกครั้งที่คุณแม่ไปงานประชุมนานาชาติศูนย์วิชาการ แล้วก็สอนพี่ๆนักศึกษา ในการที่ได้มีโอกาสติดตามคุณแม่ ทำให้มีความรู้ แล้วนำแนวความรู้ที่ได้คิดมาทำงานวิจัย ตนคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราทำดีย่อมได้ดี ถ้าทำด้วยความรักหัวใจรับผิดชอบ มีความตั้งใจ จะทำได้ดีเสมอ
ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผอ.รร.เมทนีดล ผู้วิจัยร่วมกล่าวว่า ดญ. อริสา อิวาย เป็นประธานนักเรียนของโรงเรียนเมทนีดล และมีแรงบันดาลใจจากตนเองในการริเริ่มเรียนรู้ เสนอการดำเนินงานโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โดยการจัดการขยะในโรงเรียน นำมาทำปุ๋ยไส้เดือนดินในโรงเรียนเมทนีดล ถือเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีมากตามปรัชญาโรงเรียนและแนวทางเรียนรู้คิดเป็นด้วยตนเอง (Active Learning)ของโรงเรียนอีกด้วย โดยที่ตนเองและคณะคุณครูเห็นด้วยและสนับสนุนโครงการลงมือปฏิบัติทั้งโรงเรียนแต่ไม่เพียงเท่านั้น น้องอริสายังแจ้งว่า หนูสนใจอยากเขียนบทความทางวิชาการ
ดร.อรทัย กล่าวอีกว่าดังนั้นจึงได้นำประเด็นการใช้ประโยชน์ของเสียสิ่งเหลือทิ้งจากการใช้ในโรงเรียน ส่งงานวิจัยร่วมระดับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ และคุณแม่ของน้องอริสาจึงประสานงานกันเพื่อเป็นเสมือนพี่เลี้ยงและเปิดโอกาสให้ทั้งนี้น้องอริสาและเพื่อนนักเรียนตรวจงานปุ๋ยไส้เดือนดินทุกวันที่สวนของโรงเรียน ทั้งเข้าศึกษาดูงานที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทั่งผลงานบทความเสร็จสิ้น พร้อมนำเสนอด้วยตนเองที่ประเทศเมียนม่าร์ ทุกคนปลื้มใจและภูมิใจมากที่อริสานักเรียนของเราเป็นนักวิจัยวัยเยาว์และคว้ารางวัลนำเสนอวิจัยได้อีกด้วย ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณผู้จัดงานที่เปิดโลกทัศน์ให้นักเรียนระดับประถม
ด้านนางหนูเพียร รักเชื้อ อายุ 45 ปี แม่ครัวประจำโรงเรียนเมทนีดล กล่าวว่า เด็กหญิงอริสา เป็นเด็กที่มีความขยันและตั้งใจที่อยากจะนำโครงการปุ๋ยไส้เดือนดินมาช่วยลดปัญหาปริมาณเศษอาหาร จากการประกอบอาหารและเหลือจากการรับประทานอาหารกลางวันของนักเรียนที่มีปริมาณมากในทุกวัน ซึ่งทางแม่ครัวเองก็ได้นำปุ๋ยมาใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อนำใช้ในการประกอบอาหารกลางวันให้เด็กๆและบุคลากรได้อิ่มอร่อยกับผักที่ปลอดสารพิษถือเป็นโครงการที่ดีอีกโครงการหนึ่งที่ดีมากๆ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและงานห้องครัวในโรงเรียนได้อย่างดีเยี่ยม
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันอังคาร ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561