“บุญรักษ์”ยินดีถ้ามีสถาบันหลักสูตรช่วยคิดเรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน แต่ยืนยัน สพฐ.ยังต้องมีหน่วยปฏิบัติเป็นมือเป็นไม้ต่อไป
ตามที่คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)ได้เสนอให้ กอปศ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อให้มีการจัดตั้งสถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ มาทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอน การนำหลักสูตรไปใช้ การวัดและประเมินผล รวมทั้งพัฒนาคลังทรัพยากรการเรียนรู้ทั้งสื่อและผู้เรียน จัดหมวดหมู่สื่อดิจิทัล หนังสือ และสื่อรูปแบบอื่นๆอย่างครบวงจรและถูกต้อง ตลอดจนทำข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยสถาบันดังกล่าวจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่มีความอิสระ นั้น ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าเป็นการตั้งสถาบันขึ้นมาใหม่ หรือโอนหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ไป แต่ก็เห็นเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีคนมาคิดเรื่องที่เป็นมาตรฐานให้ ซึ่งจะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น เพราะขณะนี้สพฐ. ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายกำหนดนโยบาย บางครั้งก็ทำไม่ได้สมบูรณ์ทั้งหมด ดังนั้นถ้ามีสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นมาคิด ทำหลักหลักสูตร เหมือนสมัยก่อนที่มีกรมวิชาการ แล้วมีกรมสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการประมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) นำงานของกรมวิชาการมาขับเคลื่อนสู่โรงเรียน ก็จะช่วยให้สพฐ.ทำงานได้ง่ายขึ้น
“ตอนนี้ สพฐ.กำลังลดบทบาทจากการเป็นคนคิด กำหนดนโยบาย มาเป็นฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งกำลังออกแบบการทำงานในอนาคตโดยเราจะใช้พื้นที่การศึกษาเป็นฐานจริง ๆ กำลังผลักดันให้มีงบฯประจำเขตพื้นที่ฯ ซึ่งโรงเรียนจะสามารถขอรับการสนับสนุนได้เลย เพราะในอดีตเขตพื้นที่ฯไม่มีงบฯของตัวเอง แต่ต่อไปเขตพื้นที่ฯจะต้องมีพื้นที่บริหารจริง ๆ เพราะฉะนั้นผมจึงเห็นด้วยที่จะมีการตั้งสถาบันหลักสูตรฯขึ้นมาช่วยเรื่องหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีสถาบันแยกออกไปจาก สพฐ.แต่ในทางปฏิบัติ สพฐ.ก็ยังต้องหน่วยปฏิบัติที่จะนำนโยบายไปสู่โรงเรียนอยู่ดี”ดร.บุญรักษ์กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 20 มีนาคม 2561