วิตกกังวลกับวิกฤตคุณภาพการศึกษาไทย ยิ่งใกล้วันปิดภาคเรียน ยิ่งยังมืดมนมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ไม่รู้ว่าปีการศึกษาหน้าเราจะค้นพบทางออกจากวังวนวิกฤตคุณภาพการศึกษาหรือไม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างจากคณะกรรมการอิสระทางการปฏิรูปการศึกษา ยังมองไม่เห็นวิสัยทัศน์ของผู้นำของประเทศว่าจะชี้นำไปทางใด ลองมองข้ามเขตแดนของประเทศออกไปทุกทิศทางเห็นแต่การเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลกที่ไม่หยุดนิ่ง ขณะที่บรรยากาศภายในประเทศเงียบสงบนิ่งอย่างน่าวังเวง
คำรำพึงที่หนึ่ง ของ ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยเตือนรัฐบาลไทยไว้ว่า “คนจีนใช่ว่าอย่างที่เราคิด คบจีนไม่ระวังถูกยึดประเทศแน่” ท่านยกข้อมูลมาอ้างว่า คนจีนเป็นล้านเข้าไปในเวียดนามตอนเหนือ รัฐบาลเวียดนามกลัวมากขอให้กลับก็ไม่กลับ จีนหาว่ารังแกพลเมืองของจีน จึงส่งกองทัพเข้าลุย เส้นทางรถไฟช่วยให้จีนขนสินค้าราคาถูกมาดัมพ์ใส่ตลาดเวียดนาม อุตสาหกรรมเวียดนามพังเรียบรวมผู้ผลิตสินค้ารายย่อยด้วย วิถีจีนคือส่งสินค้าเกษตรราคาถูกไปตัดราคาทำให้เจ้าของพื้นที่เก่าเจ๊งไล่ออกจากตลาดแล้วเข้าควบคุมแทน จีนส่งนักท่องเที่ยวเข้าไปเวียดนามเยอะมาก เวียดนามบูม ธุรกิจท่องเที่ยวที่จีนทำกับเวียดนามเหมือนทำในไทยคือ มีรถเอง มีที่พักเอง ซื้อของเอง คนไทยและเวียดนามไม่ได้อะไรจากนักท่องเที่ยวจีน ทางรถไฟไปถึงไหนทหารจีนไปถึงที่นั่น
จีนเข้าลาว จีนถือโอกาสเข้าไปอยู่ในเมืองทางตอนเหนือของลาว 5 เมืองเต็มไปหมด เศรษฐกิจลาวอยู่ในมือของคนจีน คนลาวเป็นแรงงาน ทำไร่ไถนา
จีนเข้าพม่าหลังจากที่พม่าถูกบอยคอตจากอเมริกา พม่าหันไปพึ่งจีน หัวเมืองด้านเหนือของพม่า จีนจึงเข้าไปขนทรัพยากรจากพม่าปีละ 30,000 ล้านเหรียญ มาร่วม 50 ปีแล้ว ไม้ หยก ของป่า พลอย ทองคำ
จีนรุกเข้าอียู จีนส่งสินค้าขึ้นที่ท่าเรือ เจนัว อีตาลี กองทัพมดลำเรียงสินค้าขึ้นบก กระจายเข้าสู่คลังสินค้า ทางการไม่ทันตรวจสอบไม่ทัน อียูก็ยุ่งเหมือนกัน
คนจีนนั้นพร้อมอพยพเข้าไทยร้อยล้านคน รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศนโยบายให้ประชาชนรายย่อยเอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศคนละ 5-6 ล้านบาท โดยธนาคารจีนปล่อยให้กู้ได้ คนจีนเมื่อได้อพยพไปอยู่ที่ไหนแล้วจะไม่ยอมกลับบ้าน
จีนมีหลักสูตรเบ็ดเสร็จระยะสั้นสอนการจำทำธุรกิจ SME โดยมีเป้าหมายจะให้เยาวชนจีนเข้ามาทำใน สปป.ลาวและไทยในเร็วๆ นี้ ปัจจุบันธุรกิจในลาว ประมาณ 80% อยู่ในมือคนหนุ่มคนสาวจากจีน ที่มีอายุระหว่าง 22-30 ปี
ในไทย มีนักศึกษาหนุ่มสาวจากจีนรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาหลักสูตรเฉพาะกิจ เพื่อประกอบธุรกิจและการค้าในไทย มาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น ABAC ศรีประทุม รัตนบัณฑิต แม่ฟ้าหลวง และ ม.อื่นๆ อีกจำนวนมาก เพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์ SME ที่จีนได้กำหนดไว้ ระยะเวลาการศึกษา 6 เดือนถึง 2 ปี พวกเขามาเรียนเพื่อรู้ที่จะทำธุรกิจ ไม่ได้มาเรียนเพื่อเอาใบปริญญา มาเรียนภาษาไทย ให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมไทยและวิถีชีวิตคนไทย
หลักสูตรเบ็ดเสร็จ SME ของจีน ผู้เรียนต้องเขียนแผนธุรกิจแผนการตลาดที่ต้องประกอบกิจการในประเทศไทยและ สปป.ลาว แล้วนำเสนอต่อส่วนงานของ SME ในจีน เมื่อโครงการแผนงานธุรกิจผ่านการประเมิน นักศึกษาจะได้รับทุนขั้นต้น 200,000 หยวน (1,000,000 บาท) ในงวดแรก และจะจ่ายงวดที่ 2-3 อีก งวดละ 200,000 หยวน เพื่อขยายกิจการ (ประมาณ 3,000,000 บาท)
ปัจจุบันคนจีนเป็นผู้ยึดครองเศรษฐกิจในลาวเกือบทั้งหมด เสมือนหนึ่งเป็น “มณฑล” รวมทั้งการถือครองที่ดินในลาวโดยถูกต้องจากการแต่งงาน ขยายสัมพันธ์ทางครอบครัวอย่างแนบแน่น สู่การโอนสัญชาติ นโยบายประชากรและยึดเศรษฐกิจโลก ฝรั่งไม่มีตามทัน ลาวจึงเป็นมิตรที่ดีที่สุดของจีนในเวลานี้ นอกจากลาวแล้วยังมีเกาหลีใต้เขาไปท่องเที่ยวและทำธุรกิจในลาวแล้วด้วย
ประเทศไทยก็คงจะเผชิญปัญหาเดียวกับลาว คนไทยเคยวิ่งตามฝรั่งทุกเรื่องแต่ฝรั่งรบตามกติกา ส่วนคนจีนรบทุกรูปแบบไม่มีกติกาแน่นอน ตอนนี้จีนรุกเงียบ เข้ายึดสวนทุเรียน สวนมังคุด สวนลำไย โดยกำหนดราคาซื้อขายเอง ตามมาด้วยธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝากและอื่นๆ อีกมาก เราจะเตรียมตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด ถ้าไทยไม่ทำอะไรในวันนี้ ประเทศจะจนมาก เทคโนโลยีพร้อมที่จะเปลี่ยนโลก
หลักสูตรการศึกษาคือคำตอบ ทั้งรัฐบาลไทยและภาคเอกชนต้องสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันโลก ให้ทันคน ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและทางเทคโนโลยี ให้เน้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเทคโนโลยีและภาษาธุรกิจ โลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว วิชาประวัติศาสตร์ต้องเรียนแต่ควรเลิกเรียนประวัติศาสตร์เพื่อยุยงคนไทยให้ไปกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าได้แล้ว ท่านเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีเขมร บอกคนเขมรว่า “อาชีพในอนาคต คนเขมรต้องพูดภาษาอังกฤษได้ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น งานก่อสร้างบ้านด้วยไม้จะหายไป เหล็กจะเข้ามาแทนที่” เป็นคำพูดสั้นๆ แต่ชัดเจนสามารถนำไปปฏิบัติได้ จึงพบว่าขณะนี้ในกรุงพนมเปญ เด็กเขมรเรียนกวดวิชาภาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ทุกตรอกทุกซอยทุกหัวมุมถนนด้วยราคาที่ไม่แพง
เคยมีคนงานก่อสร้างชาวเขมรที่เป็นวัยรุ่นเข้ามาก่อสร้างอาคารเรียนที่โรงเรียนจัตุรัสวิทยาคาร ชัยภูมิ มีเด็กหนุ่มช่างเชื่อมอ๊อกเหล็กฝีมือชั้นเทพ ครูที่โรงเรียนไปถามว่าทำไมจึงมีฝีมือเยี่ยมขนาดนี้ เด็กคนงานเขมรบอกว่า ท่านนายกรัฐมนตรีฮุนเซนบอกว่า “ต่อไปข้างหน้างานก่อสร้างที่เอาไม้มาจากป่ามาทำบ้านจะหมดไป ถ้าอยากก้าวหน้าในอาชีพก่อสร้างต้องเรียนงานโลหะงานไฟฟ้างานเครื่องจักรเครื่องกล”
เด็กเขมรจึงได้เรียนวิชา “งานเชื่อมอ๊อกเหล็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา” จนมีฝีมือชั้นเทพ
คํารำพึงที่สอง เป็นคำรำพึงของ จ.ส.อ.วุฒิพงษ์ พิพิธกุล อายุ 81 ปี อดีตทหารผ่านศึกเกาหลี ปี 2512 และอดีตแรงงานซาอุฯ 6 ปี ท่านบ่นมาว่า เมื่อ 50 ปีก่อน เกาหลีใต้ตามหลังไทยอยู่ 30 ปี แต่ภายหลังรัฐบาลของเขามีวิสัยทัศน์ ส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย ดูสิตอนนี้เราตามเขาไม่ทันแล้ว รถยนต์ Backhoe เขาทำมาขายหลายยี่ห้อ ทั้งซัมซุง ฮุนได เมื่อก่อนเกาหลีไม่ค่อยมีอะไร พอนักศึกษาเขาเรียนจบมาจากต่างประเทศ เขาพัฒนาขึ้นเร็วมาก ไทยเราแทบย่ำอยู่กับที่ เพราะผู้นำไม่เก่ง คิดไม่เป็น หรือมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ (ผู้นำในอดีต) เสียดายโอกาสของคนไทย โครงการหวยบนดิน (ของใครก็ไม่ต้องเอ่ยถึงมันแสลงใจคนหลายคน) ที่เราสามารถส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศได้ปีละประมาณ 800 คน ถ้าถึง 10 ปี ก็จะได้ถึง 8,000 คน ไม่รู้ว่าจะมีใครกล้าคิดโครงการแบบนี้ได้อีกหรือไม่
กลยุทธ์ของเกาหลีคือ ลดกำลังรบเปลี่ยนมาเป็นทหารช่างให้มากขึ้น ทหารช่างสามารถสร้างสาธารณูปโภค ถ้ากระจายทหารออกไปอยู่ตามต่างจังหวัด ไม่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ คงจะลดปัญหาต่างๆ ไปได้มาก เช่น ปัญหาจราจร ไม่ต้องสร้างทางลอยฟ้า ทหารยังสามารถช่วยตำรวจและเป็นวิทยากรทางการเกษตร และจะกลายเป็นครูสอนประชาชนได้อีกมากมาย
ผมไปเป็นทหารอยู่เกาหลี 1 ปี เห็นกองทัพของเกาหลีจัดการเยี่ยมมาก เขาปรับทหาร 80% ให้เป็นทหารช่าง มีหน้าที่สร้างถนน สะพาน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ต้องไปจ้างบริษัทก่อสร้างแบบไทย เขายังมีเงินเหลือไปพัฒนาได้อีกหลายอย่าง รัฐบาลซื้อ อิฐ หิน ปูน ทรายให้ แรงงานใช้ทหารเพียบ แล้วเขาก็ฝึกออกไปเรื่อย 4 ปี รุ่นเก่าออกไป รุ่นใหม่เข้ามา ผลพลอยได้ทหารมีความรู้ ออกไปประกอบอาชีพเป็นนายช่างได้เลย สาธารณูปโภคในเกาหลีเมื่อปี 2512 ทหารทำเกือบ 100% ถนนหนทางของเกาหลีจากชานเมืองเข้าสู่เมืองหลวงทหารทำเกือบทั้งหมด
จ่าวุฒิพงษ์ยังบอกอีกว่า ผมเคยไปทำงานอยู่ซาอุฯ 6 ปี มีคนงานหลายชาติในเอเชีย ที่บริษัทที่จ่าวุฒิพงษ์ทำงานมีคนงานประมาณ 6,000 คน มีคนงานไทย 1,200 คน และเป็นฝีมือแรงงานที่เก่งกว่าแรงงานของทุกชาติ แต่ที่ด้อยกว่าเขาคือภาษาอังกฤษเท่านั้น ผมต้องแสดงเอง (จ่าวุฒิพงษ์พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก) คนงานไทยจึงถูกเขาเอาเปรียบตลอด บอกให้ช่วย Complain ให้หน่อยก็ไม่ค่อยกล้า
ดังนั้นผมว่าการแข่งขันเรื่องแรงงานในเอเชีย ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับคนไทย (ในสมัยนั้น) ให้เพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษเข้าไปหน่อยสู้เขาได้แน่ ไม่ต้องวิตก ดีไม่ดีแรงงานไทยจะขายดีด้วยซ้ำ
คํารำพึงที่สาม ของ ผอ.ประยูร ธีรพงษ์ ผ่านการนำเสนอของ ผอ.อนุพงษ์ บุญฑริกกุล หัวข้อกับดักทางการศึกษา : โกงตาชั่ง ท่านแจงว่าโรงเรียนสอนเด็กจบเร็วขึ้นกว่าหลักสูตร แล้วก็นำเอาเวลาที่เหลือไว้ติวเด็ก ใช้ทั้งครูในโรงเรียนและครูในโรงเรียนเครือข่ายติวเด็ก หรือเหนือกว่านั้นก็ไปจ้างเอาติวเตอร์มาติว ผลที่ตามมาก็คือ การศึกษาไม่ตรงไปตรงมา (โกงตาชั่ง) เพราะมันไม่มีผลมาจากการสอนของครู มันมาจากผลของการติว มันจึงกลายเป็น Teach for Test มันไม่ได้ Teach for Develop เพื่อให้เด็กได้พัฒนาจริงๆ ข้อสอบ O-Net จึงเป็นกับดักทางการศึกษา เพราะคะแนน O-Net ไม่ได้สะท้อนผลการเรียนรู้พัฒนาทักษะของตัวผู้เรียนเลย แต่มีผลกระทบกับ ผอ.โรงเรียนและกับซื่อเสียงของโรงเรียนโดยมีเด็กเป็นผู้ต้องแบกภาระ เด็กสู้เพื่อผู้บริหารและสู้เพื่อโรงเรียน หนึ่งเดือนกว่าๆ ก่อนจะสอบ O-Net ครูก็ต้องดูแลติวนักเรียนอย่างเข้มข้นมาก เพราะว่ามันเป็นการสู้เพื่อโรงเรียน ไม่มีครูและเด็กอยู่ในผลสำเร็จของการสอบนั้นเลย ควรเลิกได้หรือยังครับ
นี่คือเสียงนกเสียงกา (กูรู) ได้ร้องทัก ไฟกำลังไหม้บ้านเพื่อนแล้วเราจะนิ่งกันอยู่ได้อย่างไร
เพชร เหมือนพันธุ์
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 14 มีนาคม 2561