รมว.ศึกษาธิการ ฟุ้ง นโยบายปฎิรูปอินเตอร์เน็ตศธ.ใหม่ ส่งผลประหยัดงบประมาณถึง 3,000 ล้านบาท พร้อม ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง ตรวจสอบปัญหาไม่ชอบมาพากลของการใช้งานระบบ Moe Net ไม่ได้ประสิทธิภาพ
วันนี้ (12 มี.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยการประชุมความก้าวหน้าการปรับปรุงสัญญาณอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษา และการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบ Moe Net ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า นโยบายปฎิรูปอินเตอร์เน็ตของ ศธ.ให้เป็นระบบไฮสปีดอินเตอร์เน็ต โดยกเลิกระบบ Moe Net มาใช้ระบบ UniNet ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งถือว่ามีความสำเร็จ เนื่องจากตนตั้งเป้าการดำเนินโครงการนี้ให้เสร็จสิ้นใน 1ปี แต่การแก้ไขปัญหาก็เดินหน้าจนเสร็จสมบูรณ์ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพราะจากการสำรวจโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 30,000 โรง พบว่า มีโรงเรียนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบไฮสปีดอินเตอร์เน็ตไม่ถึง 1 % เท่านั้น อีกทั้งมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เข้ามาช่วยวางสายไฟเบอร์ออฟติคขยายจากหมู่บ้านให้มาถึงหน้าประตูโรงเรียนฟรีทั้งหมด
“ที่ผ่านมาก่อนที่ผมจะเข้ามาปฎิรูประบบการใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมดของศธ.พบว่า การใช้งานระบบเดิมปีๆนึงใช้เงินถึงปีละหลายพันล้านบาทแต่กลับใช้งานไม่มีประสิทธิภาพ เราเจอประเด็นหลายเรื่อง เช่น ไม่มีสัญญาการจัดซื้อจ้าง และเมื่อไม่มีสัญญาจะตรวจรับมอบให้บริการกันมาได้อย่างไรมาเป็นสิบๆปี หรือผู้มีอำนาจในการต่อรองราคา เป็นต้น อีกทั้งมีบริษัทแห่งเรียกเก็บเงินค่าบริการรายเดือนระยะเวลา 3 เดือนของการใช้งานระบบ Moe Net จำนวน 60 ล้านบาทแต่ปลัด ศธ.ไม่จ่าย เพราะไม่มีสัญญาการให้บริการเครือข่าย และก็ไม่รู้สึกกังวลว่าจะโดนฟ้อง ซึ่ง ปลัด ศธ.พร้อมสู้เต็มที่ แต่ที่ผ่านมามีการใช้เงินค่าบริการไปแล้วจะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งผมก็ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ดังนั้นปัญหาความไม่ชอบมาพากลของการใช้งานระบบ Moe Net จึงได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง โดยมี นายสมศักดิ์ มิตะถา ผอ.สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ของ สกอ. เป็นประธาน ในฐานะอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคไอทีร่วมเป็นกรรมการ” รมว.ศธ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามการดำเนินการปฎิรูปอินเตอร์เน็ตครั้งนี้ทำให้ ศธ.สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งที่สำคัญได้ตอบโจทย์สถานศึกษาที่สามารถเลือกระบบอินเตอร์เน็ตที่เหมาะสมให้แก่ตนเองได้ และยังเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้มากขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2561