“วรากรณ์” ชี้ครอบครัว 4.0 ต้องก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง เผยสร้างสังคมเป็นสุข แก้ปัญหาสังคมได้ ทุกคนต้องมีอุดมการณ์ มีความรับผิดชอบ และมีแรงบันดาลใจ อย่ามองว่ารัฐบาลต้องแก้ไข สสส.ต้องดูแล ต้องเริ่มคิดมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 4 สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ทิศทางของการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวเพื่อตอบสนองต่อการเข้าสู่ประเทศไทยยุค4.0" ในงานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว "กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานของเรา" จัดโดยสสส.เมื่อวันที่ 27-28 ก.พ.2561 ตอนหนึ่งว่า ไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นบ้านของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องการสื่อว่าประเทศไทยต้องมีการรวมพลังเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพราะตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาทิ มาเลเซียมีรายได้มากกว่าประเทศไทย 1 เท่าตัว เกาหลีใต้เมื่อก่อนยากจนกว่าไทย แต่ตอนนี้ มีรายได้ต่อคนต่อปีมากกว่าไทยประมาณ 5 เท่าตัว และประเทศสิงคโปร์ มีรายได้ถึง 10 เท่าตัว ดังนั้น ตอนนี้ประเทศไทยจะช้าไม่ได้ รัฐบาลจึงพยายามผลักดันให้เกิดวิธีการผลิต การเพิ่มมูลค่าต่างๆ โดยการมองโลกให้เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย 4.0 ต้องทำทุกอย่างเท่ากันกับประเทศอื่นๆ หรือเท่าเดิมที่ทำอยู่ แต่ต้องได้รายได้มากกว่าเดิม เป็นรหัสที่รัฐบาลต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ทำอย่างไรให้คน ประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีรายได้ต่อคนต่อปีเพิ่มมากขึ้น เพราะรายได้เป็นตัวสะท้อนคุณภาพชีวิต การทำงานในอนาคตของเด็กไทย และความก้าวหน้าของประเทศ เมื่อประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 สังคม ระบบการศึกษา ระบบราชการ พ่อแม่ก็ต้องเป็น 4.0 ทั้งหมด กลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ต้องเอาเทคโนโลยีมาก่อให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น ถ้าประเทศไทยของเราเป็น 4.0 มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ดิน 1 หน่วย คน 1 หน่วยต้องมีผลผลิตมากขึ้นกว่าเดิม ต้องทำให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น เกิด S-curve ให้ได้
“รัฐบาลขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 หน่วยงานต่างๆ รวมถึง สสส. ก็ต้องผลักดันส่วนอื่นให้เกิด 4.0 ด้วย ซึ่งครอบครัว 4.0 จะต้องก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า และสิ่งที่จะทำให้เกิดสังคมเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข เด็กไทยเป็นสุขได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต้องเริ่มจากการคิด ทัศนคติในการมองโลก เพราะคนเราจะเป็นอย่างไร อยู่ที่การมองโลก หากมองด้วยทัศนคติเข้าข้างตนเอง จะไม่สามารถทำให้สังคม ประเทศนั้นๆ เจริญได้ ต้องมองไปข้างนอก รวมถึงมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ อย่ามองว่ารัฐบาลต้องแก้ไข สสส. ต้องดูแล แต่ต้องเริ่มคิดว่าครอบครัว ตัวเองจะแก้ปัญหาอย่างไร พ่อแม่ ชุมชนต้องมองว่าเราเป็นพลเมืองจะละเลยการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ได้ ถ้าจะแก้ไขปัญหาสังคมให้ได้ต้องมองว่าเป็นหน้าที่ ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา มีอุดมการณ์ มีความรับผิดชอบ และมี passion มีใจรัก มีความชอบที่จะทำสิ่งๆ นั้น” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว