เลขาธิการ กพฐ.พร้อมปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผยวางแนวทางไว้แล้ว แต่จะไม่ปูพรมทำพร้อมกันทั่วประเทศ
วันนี้ (5 มี.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา(กอปศ.) เสนอโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น(ป.1-3) สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่พบว่า การให้เด็กช่วงชั้นนี้เรียน 8 กลุ่มสาระฯเป็นการเรียนที่มากเกินไป นั้น จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการจัดการศึกษาพบว่า ทักษะสำคัญของการเรียนระดับชั้น ป.1-3 ควรมุ่งเน้นการอ่าน ออก เขียนได้ เพราะถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการศึกษาระดับพื้นฐาน ที่จะต้องพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็ง ดังนั้นการจะปรับการเรียนการสอนเป็นกี่กลุ่มสาระฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)พร้อมปฎิบัติในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำหลักสูตรการกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
“ สพฐ.ก็ได้วางแนวทางไว้ว่า การเรียนในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) จะวัดการเรียนรู้ด้านทักษะพื้นฐานของเด็ก อ่านออกเขียนได้และสื่อสารเป็น ส่วนช่วงชั้นที่ 2(ป.4-6) จะเน้นการเรียนรู้สมรรถนะการคิดวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน สพฐ.ยังวางเป้าหมายการปรับหลักสูตรว่า จะจัดการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานแยกจากการเรียนกลุ่มสาระวิชาเลือก ซึ่งในกลุ่มวิชาเลือกนั้นเราจะค้นหาหลักสูตรที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะหลักสูตรอาชีพ เช่น คหกรรม เกษตรกรรม เทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจ ได้ค้นหาตัวตนเป็นการวางเส้นทางการเรียนในอนาคต โดยน่าจะเริ่มตั้งแต่ชั้น ป.5-6 ไปถึง ม.ต้น เมื่อเด็กจบ ม.3ไปแล้วสิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดว่าเด็กไม่อยากเรียนอาชีวะจะหมดไปทันที เพราะเด็กจะค้นพบตัวเองว่าชอบเรียนสิ่งไหน”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ทั้งนี้แนวทางการปรับการเรียนการสอนดังกล่าวคงไม่ทำแบบปูพรมพร้อมกันทั้งประเทศ แต่จะค่อย ๆ ดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ด้าน รศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHES กล่าวว่า จากผลการวิจัยการประเมินการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ คือ วิธีการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อผู้เรียน และวิธีการวัดและประเมินผลที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการจะยกเลิกการเรียน 8 กลุ่มสาระจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่ควรปรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้เป็นการบูรณาการกลุ่มสาระ เพื่อลดจำนวนรายวิชาที่เรียน เช่น บูรณาการระหว่างกลุ่มสาระแบบ STEM ซึ่งเป็นวิธีการสอนแบบใหม่ที่มุ่งให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ รวมถึงต้องปรับแนวทางการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้เป็นแบบบูรณาการกลุ่มสาระด้วย เพื่อลดจำนวนครั้งของการสอบลง และยังเป็นการต่อยอดการเรียนรู้มากกว่าการกำหนดหลักสูตรขึ้นมาใหม่ด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561