สทศ.จัดสอบโอเน็ตม.6 ภาพรวมเรียบร้อยดี มั่นใจเด็กทำข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์รูปแบบใหม่ได้ เพราะประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า ปลื้มโรงเรียนนำผลโอเน็ตไปใช้
วันนี้(3มี.ค.) ที่โรงเรียนปากเกร็ด จ.นนทบุรี ศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย นางสุกัญญา งามบรรจง. รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. ( กพฐ.) รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ. ) ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมสนามสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2560 ซึ่งสทศ.จัดให้มีการทดสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 3-4 มี.ค.นี้ โดยนายนพรัตน์ จั่นเพ็ชร์ ผอ.รร.ปากเกร็ด และคณาจารย์ให้การต้อนรับ ศ.นพ.อุดม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยมสนามสอบว่า การจัดสอบโอเน็ตของนักเรียนม. 6 ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี โดยเฉพาะเรื่องข้อสอบตนก็ได้เน้นย้ำว่าข้อสอบจะต้องเน้นการคิด วิเคราะห์มากขึ้น และมีมาตรฐานสากล
ต่อข้อถามกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มีนโยบายว่าในการจัดสอบระดับชาตินั้นควรจะต้องมีการจัดหลังจากที่เด็กได้เรียนจบหลักสูตรไปแล้วนั้น แต่ขณะนี้มีหลายโรงเรียนที่ยังไม่ปิดภาคเรียน แต่สทศ.มาจัดสอบโอเน็ต นั้น ศ.นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้ สทศ.ได้ปรับช่วงเวลาในการจัดสอบต่าง ๆโดยให้จัดสอบหลังจากที่เด็กได้เรียนจบการศึกษาแล้ว เนื่ แต่ทราบว่ายังมีโรงเรียนบางแห่งนักเรียนยังเรียนไม่จบการศึกษา แต่เด็กต้องมาสอบโอเน็ต ซึ่งเรายอมรับว่าการดำเนินการปีนี้ถือว่าเป็นปีแรก ดังนั้นคงจะให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนด 100 % คงไม่ได้ แต่จากนี้เราจะต้องไปทำความเข้าใจกับโรงเรียนว่าการที่ศธ.กำหนดเช่นนี้เพราะเราต้องการให้เด็กได้อยู่ในห้องเรียนตลอดหลักสูตรการศึกษา
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า สำหรับนักเรียนม.6 ที่มีสิทธิเข้าสอบโอเน็ตในปีนี้มีจำนวน 387,917 คน ส่วนวิชาที่สอบยังคง 5 วิชาเหมือนเดิม เนื่องจากนักเรียนจะต้องนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา แต่ในการสอบครั้งนี้จะมีวิชาคณิตศาสต์และวิทยาศาสตร์ ที่ทางสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการออกข้อสอบทั้งหมด และรูปแบบข้อสอบในวิชาวิทยาศาสตร์ ได้มีการปรับที่เน้นการคิดวิเคราะห์ เน้นการตอบที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงการให้คะแนนต่าง ๆก็ปรับ ซึ่งที่ผ่านมาสทศ.ก็ได้นำรูปแบบข้อสอบขึ้นเวบไซต์ เพื่อเผยแพร่ และแจ้งไปยังโรงเรียนต่าง ๆให้เตรียมความพร้อมให้ก่เด็กด้วย ดังนั้นคิดว่าเด็กจะเข้าใจ และทำข้อสอบได้ อย่างไรก็ตามจากการที่ สทศ.ได้ลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่าง ๆทราบว่าขณะนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ได้มีการนำผลคะแนนโอเน็ตไปปรับใช้ในการเรียนการสอน ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนก็นำผลโอเน็ตมาใช้ในการพัฒนาโรงเรียนด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม 2561