เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 ที่อาคารอิมแพคฟอรั่มเมืองทองธานี ในงานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว “ กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือ ผลงานเรา” มีการเสวนาเรื่อง”การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์สู่ศตวรรษที่ 21 : จากการเรียนรู้ร่วมกันสู่นโยบาย” ซึ่ง ศ.กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ กรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และประธานคณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า ทุนมนุษย์ คือ สิ่งที่มีอยู่ในตัวคน ได้แก่ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ และสุขภาพ เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ทุนมนุษย์ก็เสื่อมค่าได้ถ้าไม่พัฒนา ซึ่งวิธีการเพิ่มค่าทุนมนุษย์ที่สำคัญคือการศึกษา แต่ที่ผ่านมาเราให้ความรู้ที่เป็นวิชาการมากเกินไป แต่เน้นเรื่องทักษะ ประสบการณ์ และความสามารถอื่นของคนน้อยเกินไป
ศ.กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนไทยน่าเป็นห่วง 6 เรื่อง คือ 1.ดูแลตัวเองไม่ดีพอ มีแนวโน้มเสียชีวิตจากการใช้ชีวิตบนความเสี่ยงมากขึ้น 2.มีปัญหาด้านคุณธรรมไม่ตระหนักในวินัย ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีจิตสาธารณะ ขาดทักษะในการคัดกรอง ละทิ้งค่านิยมที่ดี 3.ขาดความคิดสร้างสรรค์ การเรียนการสอนเน้นท่องจำ ไม่สอนกระบวนการคิด มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น แต่เป็นการใช้เพื่อหาความรู้เพียงนิดเดียว 4.มีปัญหาด้านคุณภาพทุกช่วงวัย 5.ขาดดุลพินิจ เปราะบางและอ่อนไหว โดยขาดทักษะและดุลพินิจในการเลือกรับ เลือกปรับใช้วัฒนธรรมและเทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน 6.ดูแลลูกหลานไม่ดีและลูกหลานดูแลบรรพบุรุษไม่ดี
“ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษ 21 ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในอำนาจหน้าที่ขอคณะอนุกรรมการฯ คือ การขับเคลื่อนการสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดที่เหมาะสมให้กับคนไทย ให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้คนไทยมีพฤติกรรมที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้น ถ้าทำได้เพียง 5 ด้าน จากแนวพระราชดำริที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้แก่คนไทยทั้งปวงคือ ความพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตสาธารณะและรับผิดชอบ โดยรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัวและต่อสังคม ดำเนินชีวิตบนทางสายกลางแบบมีเหตุผลก็จะแก้ปัญหาคนไทยในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตามเราพบว่าขณะนี้มีองค์กรเครือข่ายที่ทำหน้าที่ต่างๆ ทั้งเรื่องพอเพียง ความมีวินัย จำนวนมาก แต่ทำแบบต่างคนต่างทำและไม่เกิดผลกระทบที่ชัดเจน ดังนั้น จะมีการเดินหน้าสร้างเครือข่ายในวันที่ 1 มี.ค.นี้ เพื่อให้เกิดมรรคผล กระบวนการนอกลู่ต้องเปลี่ยน มิฉะนั้น คนไทยจะไปสู่ศตวรรษที่ 21 ไม่สำเร็จ ต่อให้มีการศึกษาดี คุณภาพดี ถ้าทุกคนยังเห็นแก่ตัวอยู่” ศ.กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กล่าว
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยประสบปัญหาเชิงโครงสร้างทางศักยภาพการเติบโต เพราะที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องปริมาณ ให้น้ำหนักเรื่องคุณภาพน้อย โดยเฉพาะคุณภาพคน การใช้ความรู้ ทักษะ การคิดริเริ่ม นวัตกรรมเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการวิจัย ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่และมีแนวโน้มจะมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น รวมถึงโครงสร้างกลไกภาครัฐที่มีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดลง มีการสะสมกฎระเบียบต่างๆ ไว้มาก จนกลายเป็นตุ้มถ่วง นอกจากต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่อง 1. ความก้าวหน้าแบบอัตราเร่งของเทคโนโลยี ถ้าตามไม่ทันจะเกิดการว่างงาน 2.ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนทำงาน 2 คนอาจต้องรับภาระคนที่ไม่ทำงาน 1 คน 3. ความท้าทายจากมาตรฐานต่าง ๆ ของโลกที่จะสูงขึ้น 4.โลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากที่หนึ่งจะกระทบกับประเทศอื่นได้รวดเร็ว ทั้งนี้ เราจะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายต่างๆ โดยใช้ประโยคคำขวัญว่า “ แข่งขันได้ กระจายทั่วถึง พัฒนายั่งยืน”
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ อุปนายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย และประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก กล่าวว่า ตนยืนยันว่ายุค 4.0 จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ความเป็น 3.0 ทุกวันนี้ ทำลายประเทศ ทำลายโลกและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้มีการวิจัยไว้ว่า ถ้าพรุ่งนี้โลกเปลี่ยนจากยุค 3.0 เป็น 4.0 คนในประเทศไทยที่เป็นแรงงานในระบบประมาณ 13 ล้านคนหรือ 72% จะต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งยังไม่นับแรงงานนอกระบบอีก 20 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ 80-90% ของอุตสาหกรรมบนโลกจะเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการการทำงานที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนปลายน้ำที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปและไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 28% ที่ภาคอุตสาหกรรมรักษาไว้จะได้รับผลกระทบภายใน 5 ปี โดยความเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจะไม่จ้างคนเพิ่มหรือจ้างน้อยมาก
“ขณะที่โลกและทุกภาคส่วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย หากการศึกษาของไทยยังนิ่ง ผลิตคนแบบเดิมๆ เรียนในห้องเรียนจากตำราแบบเดิมๆ ไม่ใช่แรงงานในความต้องการ 28% ที่ตลาดแรงงาน 4.0 ต้องการ คนที่จบการศึกษาออกไปจะไม่มีงานทำ ดังนั้น การศึกษานอกห้องเรียน การศึกษาร่วมกับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม มีความจำเป็นอย่างมาก การศึกษาจะต้องเกิดจากความร่วมมือ และวันนี้จำเป็นต้องปลุกยักษ์ในภาครัฐที่ควบคุมการศึกษาทั้งหมด ยักษ์ในภาคอุตสาหกรรมที่มองแต่ดัชนีด้านธุรกิจ หรือแม้กระทั่งภาคประชาชนให้รับรู้ สื่อสาร มีมาตรการและแรงจูงใจ ดูว่าจะรองรับแรงงานในระบบอย่างไร และจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาในรูปแบบใหม่อย่างไร” ดร.สัมพันธ์ กล่าว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท กรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยลงทุนเพื่อการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับต่ำ ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาปีละ 521,233 ล้านบาท แต่เป็นงบฯ รายจ่ายประจำ 74.69% มีงบฯพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนระหว่างครูกับเด็กไม่ถึง 10 บาท จาก 100 บาท และเหลือถึงเด็กยากจนเพียงแค่ 50 สตางค์สุดท้ายจากเงิน 100 บาทเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังมีปัญหาอยู่ จากการลงพื้นที่ของ กอปศ. และพบปัญหาที่เกิดขึ้นจริง จึงคิดจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนจาก 50 สตางค์สุดท้ายมา เป็น 5 บาทแรก เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาให้ได้ โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การให้โอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาคือ การที่เด็กทุกคนได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่ตรงตามความต้องการ เพื่อให้สามารถขจัดความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่โอกาสทางการศึกษาได้ ไม่ใช่ให้การสนับสนุนเท่ากันทุกคน