คกก.อิสระฯ ชูงานวิจัยการจัดการเรียนการสอนเด็กประถมต้น เตรียมปฏิรูปหลักสูตร ยกเลิก 8 กลุ่มสาระ “หมอจรัส” ชี้เหตุไม่มีลักษณะที่พึงประสงค์ เด็กต้องไปกวดวิชา ด้าน “ทิศนา” ระบุต้องทำชุดวัดชุดสมรรถนะการเรียนรู้เด็กประถมต้น เพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมโลกอนาคตคาดแล้วเสร็จ ก.ย.นี้
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ คณะอนุฯ การจัดการเรียนการสอนได้นำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนากรอบสมรรถนะผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นตั้งแต่ประถมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พูดตรงๆเลยว่า สภาพปัจจุบันในการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาหลักไม่มีลักษณะที่พึงประสงค์ต่อเด็ก เพราะทำให้เด็กเกิดการแข่งขันต้องไปกวดวิชา เพื่อสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 ซึ่งการเรียนของเด็กในช่วงชั้นกลุ่มนี้จะต้องทำให้เด็กรู้เรียนรู้การใช้ชีวิต เพื่ออนาคตของตัวเอง พร้อมกับพัฒนาชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน ดังนั้นตนจึงบอกได้เลยว่าในระดับประถมศึกษาตอนต้นไม่ควรมีการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขต่อไป
ด้านนางทิศนา แขมมณี กรรมการในคณะอนุกรรมการจัดการเรียนการสอน ของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา กล่าวว่า ภายในรายงานดังกล่าว ความคิดเห็นส่วนใหญ่ ระบุว่าเด็กในช่วงชั้นนี้เรียนรู้มากเกินไป คือ เรียนใน 8 กลุ่มสาระวิชา และยังมีตัวชี้วัดของผู้เรียนและเนื้อหาในวิชาต่างๆ จำนวนมาก ส่งผลให้ครูต้องเร่งการสอน เพื่อให้เด็กได้ไปสอบวัดความรู้และรองรับการประเมินต่างๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้เด็กไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนเท่าที่ควร เนื่องด้วยหลักสูตรกำหนดการเรียนในกลุ่มสาระมากเกินไป อีกทั้งการวิจัยยังค้นพบว่า เด็กในช่วงชั้นนี้เป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างเด็กปฐมวัยสู่ประถมศึกษา จึงเป็นช่วงที่เด็กต้องปรับตัว ดังนั้นหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กระดับนี้ ควรจะต้องมีความยืดหยุ่นให้ตอบสนองต่อความแตกต่างของเด็ก ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯ จึงมีแนวคิดที่จะปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตอนต้นใหม่ ให้มีความเหมาะสมกับช่วงวัย โดยจะต้องสร้างชุดวัดสมรรถนะของเด็กวัยนี้ เพื่อให้เด็กอยู่ได้ในโลกยุคนี้และโลกอนาคต อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรากำลังทำวิจัยสำหรับการปฏิรูปหลักสูตรใหม่ ร่วมกับ สภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการปรับหลักสูตรเพื่อสร้างสมรรถนะให้ตอบโจทย์กับเด็กกลุ่มดังกล่าว
“เด็กในวัยนี้ควรจะต้องเรียนรู้เพื่อสร้างสมรรถนะให้ตนเองไว้ใช้สำหรับอนาคต ซึ่งจะต้องไม่ใช่การเรียนเพื่อไปสอบแข่งขันหรือไปเรียนต่อ เช่น การเรียนภาษาอังกฤษ ควรเรียนในระดับใด หรือ การเรียนภาษาไทย ต้องอ่านออกเขียนได้ เป็นต้น เพราะเรามองว่าเด็กในวัยนี้ต้องการชุดความรู้ด้านสมรรถนะที่ใหม่และแตกต่างจากเดิม ทำให้เกิดเด็กเกิดคุณสมบัติสมรรถนะตามที่เราต้องการ โดยชุดสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กช่วงชั้นป.1-3 นี้จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะเริ่มต้นนำร่องสร้างกรอบสมรรถะผู้เรียนในระดับประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งจะให้เป็นต้นแบบในการดำเนินการในระดับต่อๆ ไปได้”นางทัศนา กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561