สพฐ.สำรวจระเบียบล้าสมัย เป็นอุปสรรคในการทำงาน เล็งปลดพันธนาการหรือปรับปรุงให้ทันยุคสมัย
วันนี้(20 ก.พ.)ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ไปสำรวจระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่ทั้งหมด ว่า ระเบียบใดที่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือ เป็นพันธนาการทำให้การบริหารงานของ สพฐ. และหน่วยงานอื่น ๆ หรือ ภาพรวมทำงานไม่ได้หรือไม่เกิดประสิทธิภาพ โดยให้ดูด้วยว่ามีระเบียบใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวและเป็นสากล ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายสนิท แย้มเกสร ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.เป็นผู้รวบรวมระเบียบที่มีอยู่ทั้งหมด และศึกษาวิเคราะห์ว่าระเบียบไหนควรปรับ ระเบียบไหนควรยกเลิก โดยให้เร่งดำเนินการเป็นการด่วน
“เท่าที่ดูผมคิดว่าน่าจะมีหลายระเบียบที่ต้องมีการแก้ไข ขณะเดียวกันบางระเบียบก็อาจไม่มีความจำเป็นแล้วซึ่งน่าจะยกเลิกได้ ซึ่งต้องรอการศึกษาวิเคราะห์ก่อน อย่างไรก็ตามระเบียบ ที่ รมว.ศึกษาธิการ ติดใจ และมองว่าเป็นระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้ แต่ก็ต้องปฏิบัติ เช่น การอยู่เวรยามของครูในโรงเรียน ที่ตามระเบียบ เรื่อง การนอนเวรยามของครู ทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน ที่กำหนดครูสตรีอยู่เวรกลางวัน ส่วนกลางคืนให้เป็นครูชาย แต่ตอนนี้ครูส่วนใหญ่จะเป็นครูสตรี และบางโรงเรียนไม่มีครูชายเลย ก็ต้องให้ครูสตรีไปอยู่เวรยามแทน ซึ่งก็เกิดปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยมาแล้ว โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่บนเขา บนดอย เป็นต้น”เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า นิติกรซึ่งเป็นบุคลากรที่ทำงานด้านกฎหมายมีจำนวนจำกัด แต่ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ.มีเรื่องการสอบสวนทางวินัยจำนวนมาก แต่นิติกรมีจำกัดทำให้การทำงานเรื่องการสอบสวนค่อนข้างเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่ตรงตามกำหนดเวลา ดังนั้นตนหารือร่วมกับทางเขตพื้นที่ฯ เพื่อกำหนดโครงสร้าง ระบบงาน และอัตรากำลัง รวมถึงค่าตอบแทนที่จะเป็นแรงจูงใจให้คนที่จบกฎหมายอื่น มาทำงานกับสพฐ. และเขตพื้นที่ฯเพิ่มขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561
“หมอธี”สั่งสพฐ.สำรวจระเบียบที่จำเป็นต้องยกเลิก
หารือเขตพื้นที่ฯ ปรับโครงการ อัตรากำลัง ค่าตอบแทนจูงใจคนจบกฎหมายร่วมทำงานนิติกร
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ไปสำรวจระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีอยู่ว่าระเบียบใดที่ไม่ได้ใช้หรือเป็นพันธนาการ ทำให้การบริหารงานของ สพฐ. และหน่วยงานอื่น ๆ หรือภาพรวมทำงานไม่เกิดประสิทธิภาพ โดยให้ดูว่ามีระเบียบใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวและเป็นสากล ซึ่งตนได้มอบหมายให้นายสนิท แย้มเกสร ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เป็นผู้รวบรวมระเบียบที่มีอยู่ทั้งหมด และศึกษาวิเคราะห์ว่าระเบียบใดควรปรับปรุงหรือยกเลิก โดยให้เร่งดำเนินการเป็นการด่วน
"เท่าที่ดูผมคิดว่ามีหลายระเบียบที่ต้องแก้ไข และบางระเบียบอาจไม่มีความจำเป็นแล้ว น่าจะยกเลิกได้ แต่ต้องรอการศึกษาวิเคราะห์ก่อน อย่างไรก็ตามระเบียบที่ รมว.ศึกษาธิการ ติดใจและมองว่าเป็นระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้ แต่ก็ต้องปฏิบัติ เช่น การอยู่เวรยามของครูในโรงเรียน ตามระเบียบเรื่องการนอนเวรยามของครู ทั้งภาคกลางวันและภาคกลางคืน ที่กำหนดครูสตรีอยู่เวรกลางวัน ส่วนกลางคืนให้เป็นครูชาย แต่ขณะนี้ครูส่วนใหญ่เป็นครูสตรี และบางโรงเรียนไม่มีครูชายก็ต้องให้ครูสตรีไปอยู่เวรยามแทน ซึ่งเกิดปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่บนเขา บนดอย"
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นนิติกร ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทำงานด้านกฎหมายมีจำนวนจำกัด แต่ ศธ.โดยเฉพาะ สพฐ.มีเรื่องการสอบสวนทางวินัยจำนวนมาก แต่นิติกรมีจำกัดทำให้เรื่องการสอบสวนเป็นไปด้วยความล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลา ดังนั้น ตนหารือร่วมกับทางเขตพื้นที่ฯ เพื่อกำหนดโครงสร้าง ระบบงาน และอัตรากำลังรวมถึงค่าตอบแทน เพื่อจูงใจให้คนที่จบกฎหมายมาทำงานกับ สพฐ.และเขตพื้นที่ฯ เพิ่มขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐออนไลน์ 20 กุมภาพันธ์ 2561