สถานี ก.ค.ศ.
ทิศทางการสอบบรรจุครูผู้ช่วยแนวใหม่
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจทุกท่าน ในสัปดาห์นี้มีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตามที่ ก.ค.ศ. มีแนวทางในการนำผลการสอบผ่านภาค ก ของ ก.พ. มาใช้เป็นผลการสอบฯ ในภาค ก ของการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ปี พ.ศ. 2561 นั้น โดยหลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่า ในอนาคตอาจทำให้ผู้สอบผ่านภาค ก ของ ก.พ. ที่ไม่ได้เรียนครู มาสมัครสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ นั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน จึงขอนำประเด็นดังกล่าวมาบอกกล่าวให้รับทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
1. ขณะนี้ ก.ค.ศ. ยังมิได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (แนวใหม่) โดยในการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ได้มอบสำนักงาน ก.ค.ศ. นำ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว ไปพิจารณาปรับปรุงแล้วนำเสนอ ก.ค.ศ. พิจารณาอีกครั้ง
2. แนวคิดการสอบภาค ก จะกำหนดให้หน่วยงานกลางที่ ก.ค.ศ. มอบหมาย เป็นผู้ดำเนินการ และอาจทำความตกลงร่วมกับ ก.พ. ในการนำผลการสอบภาค ก ของ ก.พ. มาใช้เป็นผลสอบภาค ก ของการสอบฯ ในตำแหน่งครูผู้ช่วย เนื่องจากหลักสูตรการสอบภาค ก ที่จะนำเสนอ ก.ค.ศ. กำหนดใหม่ จะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับหลักสูตรการสอบภาค ก ของ ก.พ. ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีวุฒิทางการศึกษาหรือคุณวุฒิอื่นที่ ก.ค.ศ. รับรอง ได้เข้ามาสมัครสอบภาค ข ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิชาชีพครูและวิชาเฉพาะตำแหน่ง และภาค ค ของ ก.ค.ศ. โดยไม่ต้องมาสอบภาค ก ของ ก.ค.ศ. อีก แต่ผู้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย กล่าวคือ
2.1 มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ช่วย (ต้องเป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ. รับรองแล้ว เท่านั้น)
2.2 มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน
จะเห็นได้ว่า การที่ผู้ใดจะมีสิทธิสมัครสอบภาค ข และภาค ค ของ ก.ค.ศ. ได้ ผู้นั้นต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครูผู้ช่วยครบถ้วน มิได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สอบผ่านภาค ก ของ ก.พ. ทุกคน มีสิทธิสอบภาค ข และภาค ค ของ ก.ค.ศ. แนวคิดดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายครู และเชื่อมั่นว่าระบบการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในอนาคต จะยังคงรักษามาตรฐานในการเลือกสรรคนเก่งคนดีที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู เข้ามาเป็นครูได้อย่างแน่นอน
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.” หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561
ที่มา เว็บไซต์สำนักงาน ก.ค.ศ. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561